การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโดยการมีส่วนร่วมของคนทุกช่วงวัยในครอบครัวและชุมชน

โครงการวิจัยการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโดยการมีส่วนร่วมของคนทุกช่วงวัยในครอบครัวและชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความตระหนักในคุณค่า ความสำคัญ และการมีส่วนร่วมของคนทุกช่วงวัยในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ สามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว/ชุมชนระหว่างคนทุกช่วงวัย และมีการพัฒนาระบบกลไกในการคุ้มครองดูแลผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีครอบคลุมในทุกมิติผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของกลไกทุกระดับโดยเฉพาะครอบครัวและชุมชนท้องถิ่นซึ่งมีความใกล้ชิดกับผู้สูงอายุมากที่สุด เพื่อให้การช่วยเหลือดูแลและส่งเสริมคุณภาพชีวิตเป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โครงการวิจัยชิ้นนี้ใช้วิธีการวิจัยแบบผสานวิธี ซึ่งประกอบด้วย การวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพที่มีทั้งวิธีการสนทนากลุ่ม และการสัมภาษณ์เชิงลึก สำหรับการวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย คือ ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และสมาชิกช่วงวัยอื่นในครอบครัวที่มีอายุตั้งแต่ 10 – 59 ปี โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัย จำนวน 1,000 ชุด ส่วนการสนทนากลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัว จำนวน 15 คน กับกลุ่มตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุในพื้นที่ เช่น ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพสต.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และตัวแทนจากสมาชิกชมรม/โรงเรียนผู้สูงอายุ/องค์กรชุมชน จำนวน 15 คน สำหรับการสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในเขตพื้นที่ จำนวน 3 ท่าน การศึกษาวิจัยใช้ระยะเวลาในการดำเนินงาน 1 ปี ช่วงระหว่างเดือนเมษายน 2564 ถึงเดือนมีนาคม 2565 ผลการวิจัย พบว่า คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในปัจจุบันทั้งจากการประเมินโดยตัวของผู้สูงอายุและการประเมินโดยสมาชิกช่วงวัยอื่นในครอบครัวเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน โดยผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลางมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.36 ในกลุ่มผู้สูงอายุ และคะแนนเฉลี่ย 3.28 ในกลุ่มของสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งมีคะแนนเฉลี่ยรายองค์ประกอบ ดังนี้ องค์ประกอบทางด้านร่างกายมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.28 และ 3.17 ในกลุ่มผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัว ตามลำดับ องค์ประกอบด้านจิตใจมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.43 และ 3.33 ในกลุ่มผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัว ตามลำดับ องค์ประกอบด้านสัมพันธภาพทางสังคมมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.40 และ 3.35 ในกลุ่มผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัว ตามลำดับ และองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.39 และ 3.30 ในกลุ่มผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัว ตามลำดับ เมื่อพิจารณารายองค์ประกอบ พบว่า นอกจากกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่จะให้คะแนนการประเมินอยู่ในระดับปานกลางเท่ากับ 3.36 และ 3.28 ในกลุ่มผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัว ตามลำดับ แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ องค์ประกอบด้านจิตใจมีร้อยละของการประเมินคุณภาพชีวิตในระดับที่ดีสูงกว่าองค์ประกอบด้านอื่นๆ โดยเท่ากับร้อยละ 28.20 และ 16.30 ในกลุ่มผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัว ตามลำดับ ส่วนองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมมีร้อยละของการประเมินคุณภาพชีวิตในระดับต่ำมากกว่าองค์ประกอบด้านอื่นๆ ซึ่งเท่ากับร้อยละ 18.50 และ 21.30 ในกลุ่มผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัว ตามลำดับ จากข้อมูลดังกล่าวแสดงว่า ในภาพรวมผู้สูงอายุมีความพึงพอใจกับคุณภาพชีวิตของตนเองอยู่ในระดับปานกลาง โดยที่สมาชิกช่วงวัยอื่นในครอบครัวมีความคิดเห็นในทิศทางที่สอดคล้องกัน นั่นหมายความว่า ผู้สูงอายุยังต้องการให้มีการช่วยเหลือดูแล และพัฒนาเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น โดยเฉพาะองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อม ข้อมูลจากการสนทนากลุ่มแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์เกี่ยวกับความเป็นอยู่และสภาพปัญหาของผู้สูงอายุในปัจจุบัน โดยในส่วนของความเป็นอยู่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังคงอาศัยอยู่ร่วมกับสมาชิกในครอบครัว หรือมีบ้านพักอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน และยังคงได้รับการดูแลจากสมาชิกในครอบครัว ญาติ ตลอดจนเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียง มีเพียงส่วนน้อยที่อาศัยอยู่ตามลำพัง ส่วนสภาพปัญหาสำคัญคือปัญหาด้านสุขภาพ ทั้งการเจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัว การประสบปัญหาป่วยติดเตียง และการเป็นโรคอัลไซเมอร์ซึ่งพบมากขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ รวมทั้งปัญหาด้านรายได้ที่ไม่เพียงพอในกลุ่มผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือผู้สูงอายุที่มีหนี้สินจากการกู้ยืมเงินให้กับบุตร การดำเนินงานของหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน มีทั้งมิติของการช่วยเหลือดูแลด้านสุขภาพโดยหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลเกี่ยวกับสุขลักษณะของผู้สูงอายุป่วยติดเตียง มิติด้านสิ่งแวดล้อมในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้มีสภาพเหมาะสมโดยบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และการช่วยเหลือปรับสภาพบ้านให้ถูกสุขลักษณะในกลุ่มของผู้สูงอายุที่ไม่มีกำลังความสามารถโดยบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มิติด้านการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะความรู้ในการดูแลสุขภาพตนเองและทักษะการทำงานโดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) มิติด้านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมโดยบทบาทของชมรม/โรงเรียนผู้สูงอายุผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น แนวทางการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโดยการมีส่วนร่วมของคนทุกช่วงวัยในครอบครัวและชุมชน ตลอดจนภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญ คือ การส่งเสริมคุณภาพชีวิตตามคุณลักษณะและความสามารถในการช่วยเหลือตนเองของผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาป่วยติดเตียงควรให้การดูแลด้านสุขลักษณะอย่างเหมาะสมทั้งในด้านของการกิน อยู่ หลับ นอน โดยเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่มีทักษะความเชี่ยวชาญ และการจัดสภาพบ้านให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยโดยการมีส่วนร่วมของสมาชิกในครอบครัว ผู้สูงอายุติดบ้านควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคซึมเศร้าหรือกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุติดสังคมที่ควรส่งเสริมให้ได้รับการพัฒนาทักษะความรู้เพื่อการปรับตัวได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ และผู้สูงอายุที่มีทักษะความรู้/ภูมิปัญญาที่ควรส่งเสริมบทบาทการเป็นวิทยากรหรือเป็นผู้ให้ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การจัดการความรู้ที่สามารถเผยแพร่หรือพัฒนาต่อยอดได้ การส่งเสริมบทบาทของเยาวชนให้ทำหน้าที่ในการช่วยเหลือดูแลเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ ตลอดจนถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่างๆ วัยแรงงานซึ่งมีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ควรส่งเสริมให้มีการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุในทุกมิติโดยเฉพาะด้านสุขภาพและรายได้ ภาคีเครือข่ายและภาคส่วนต่างๆ ในชุมชน ควรมีการพัฒนาทักษะความรู้ ส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ และประสานความร่วมมือกับภาคส่วน/หน่วยงานภายนอก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ควรมีการกำหนดนโยบายในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้มีความชัดเจน ผลักดันให้มีการขับเคลื่อนโดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ จัดบริการสาธารณะและกิจกรรมที่เหมาะสม รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของภาคีเครือข่ายที่เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงาน โดยมีการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐทั้งด้านองค์ความรู้ บุคลากร งบประมาณ การจัดสวัสดิการและบริการรองรับอย่างเหมาะสม การเตรียมความพร้อมของวัยผู้ใหญ่ก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ การพัฒนาทักษะและส่งเสริมอาชีพ รวมทั้งการกำหนดมาตรการรองรับผู้สูงอายุที่ขาดผู้ดูแลทั้งในด้านงบประมาณ สถานที่ และบุคลากร การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชนเพื่อให้มีการสนับสนุนงบประมาณและเทคโนโลยี รวมทั้งการมาตรการในการจ้างงานอย่างเฉพาะเจาะจงสำหรับผู้สูงอายุ ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้แก่ การจัดทำฐานข้อมูลของผู้สูงอายุเพื่อประโยชน์ในการจัดทำแผนงานในการช่วยเหลือ ส่งเสริม พัฒนา การจัดสรรบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาทักษะความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง การกำหนดมาตรการด้านการส่งเสริมสวัสดิการ/ระบบการคุ้มครองทางสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้สูงอายุ การพัฒนาช่องทางและระบบการให้บริการที่ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชนในลักษณะของ CSR หรือ MOU เพื่อให้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ รวมทั้งนำรูปแบบ/แนวทางการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโดยการมีส่วนร่วมของคนทุกช่วงวัยในครอบครัวและชุมชนไปทดลองปฏิบัติจริงในพื้นที่เพื่อขยายผลการศึกษาวิจัย

องค์กร :
สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันที่ปรับปรุงครั้งล่าสุด :
29 มีนาคม 2566
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
Office of the National Economic and Social Development Council (NESDC)
เลขที่ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
โทร : 0-2280-4085 ต่อ 6221-6241
โทรสาร : 02-280-6384, 02-628-2858
E-mail : open-d@nesdc.go.th
All rights reserved 2016 - NESDC. Powered By NECTEC.