การใช้พันธุ์พืชใหม่ที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์เป็นปัจจัยหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของเกษตรกรได้ อย่างไรก็ตามการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมและทันสมัยเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตและผลตอบแทน อีกทั้งช่วยลดการพึ่งพาแรงงานคน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่ออาชีพเกษตร ซึ่งภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรในการพัฒนาพันธุ์พืชไร่เศรษฐกิจให้มีผลผลิตสูง ปรับตัวได้ดีต่อสภาพแวดล้อมที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง พืชไร่เศรษฐกิจหลายชนิดที่ได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ในนามของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และได้รับการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก จากประสบการณ์ในการดำเนินงานดังกล่าว พบว่าเกษตรกรรุ่นใหม่มีความสนใจและมีศักยภาพในการที่จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตพืช แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเกษตรอัจฉริยะที่เป็นรูปธรรมไปสู่กลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย เนื่องจากยังขาดแปลงปลูกพืชไร่ต้นแบบเกษตรอัจฉริยะในพื้นที่ขนาดใหญ่ ในขณะที่เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะส่วนใหญ่ได้รับการวิจัยและพัฒนาในสภาพโรงเรือน ดังนั้นภาควิชาฯจึงเล็งเห็นความสำคัญในการดำเนินการตั้งแต่การทดสอบและคัดเลือกพืชไร่พันธุ์ดีเพื่อเป็นพันธุ์ส่งเสริม หรือสายพันธุ์ดีเพื่อพัฒนาเป็นพันธุ์พืชใหม่ อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง งา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อย และหญ้าอาหารสัตว์ สำหรับใช้เป็นต้นแบบในการส่งเสริมปลูกร่วมกับเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยฟาร์ม อีกทั้งยังผลิตเมล็ดพันธุ์และท่อนพันธุ์คุณภาพดีของพืชไร่เศรษฐกิจพันธุ์ใหม่หรือพันธุ์ส่งเสริม สำหรับแจกจ่ายให้เกษตรกรปลูกพร้อมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชไร่เศรษฐกิจโดยใช้นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ นอกจากนี้ยังมีแผนดำเนินการถ่ายทอดความรู้และส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อการวางแผนการเพาะปลูกและการจัดการแปลง อาทิ แอพพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มทางการเกษตร ที่พัฒนาโดยภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ/หรือที่พัฒนาโดยหน่วยงานอื่นภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเกษตรกรที่ใช้นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ อันจะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลทางการเกษตรและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการผลิตทางการเกษตรสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การจัดอบรมระยะสั้นเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการทำฟาร์มพืชไร่อัจฉริยะให้แก่บัณฑิตจบใหม่หรือผู้สนใจทั่วไป จะเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนากำลังคนรุ่นใหม่ในภาคการเกษตรที่มีทักษะสูงและเป็นบุคลากรที่จะช่วยขยายผลจากการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีออกไปสู่วงกว้าง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมเกษตรกรรมยุคเทคโนโลยีดิจิทัลได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ไม่พบข้อเสนอแนะ