การศึกษาวิจัย การออกแบบนโยบายการพลิกโฉมระบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคตในปี 2040 ได้ดำเนินการศึกษาและสรุปสภาพที่พึงประสงค์ในอนาคตในมิติด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1) ด้านสังคม ที่ส่งผลโดยตรงต่อทิศทางการพัฒนาของประเทศไทย สามารถสรุปประเด็นของการเปลี่ยนแปลงได้เป็น 3 ประเด็นสำคัญ คือ (1.1) สังคมอยู่ดีมีสุข หรือสังคมยั่งยืน (1.2) สังคมคุณธรรม และเสมอภาค และ (1.3) สังคมหลังนวัตกรรม หรือสังคม 5.0 2) ด้านเทคโนโลยี ที่ส่งผลโดยตรงต่อทิศทางการพัฒนาของประเทศไทย สามารถสรุปประเด็นของการเปลี่ยนแปลงได้เป็น 3 ประเด็นสำคัญ คือ (2.1) การพลิกผันทางดิจิทัล (2.2) หุ่นยนต์โลกาภิวัตน์ และปัญญาประดิษฐ์ และ (2.3) เทคโนโลยีสีเขียว และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3) ด้านเศรษฐกิจ ที่ส่งผลโดยตรงต่อทิศทางการพัฒนาของประเทศไทย สามารถสรุปประเด็นของการเปลี่ยนแปลงได้เป็น 3 ประเด็นสำคัญ คือ (3.1) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (3.2) เศรษฐกิจสีเขียว หรือเศรษฐกิจยั่งยืน และ (3.3) การเปิดเสรีทางการค้าและบริการ 4) ด้านสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลโดยตรงต่อทิศทางการพัฒนาของประเทศไทย สามารถสรุปประเด็นของการเปลี่ยนแปลงได้เป็น 3 ประเด็นสำคัญ คือ (4.1) วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (4.2) ข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความเข้มข้น และ (4.3) การเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงต่อสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติที่มีความผันผวนและรุนแรงมากขึ้น และ 5) ด้านการเมือง ที่ส่งผลโดยตรงต่อทิศทางการพัฒนาของประเทศไทย สามารถสรุปประเด็นของการเปลี่ยนแปลงได้เป็น 2 ประเด็นสำคัญ คือ (5.1) การเมืองคุณภาพ (Quality Political) และ (5.2) ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของภาคประชาชน (Participatory Democracy) ข้อเสนอระบบการเรียนรู้ใหม่ที่ได้จากการศึกษาวิจัย การออกแบบนโยบายการพลิกโฉมระบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคตในปี 2040 โดยหลักการของระบบการเรียนรู้ใหม่ มีดังนี้ 1) ใช้แนวคิดและหลักการของการออกแบบย้อนกลับ 2) เปลี่ยนเป้าประสงค์การจัดการศึกษาจากเนื้อหาเป็นฐานไปสู่ผลลัพธ์เป็นฐาน 3) การเรียนรู้จากโลกกว้างด้วยระบบนิเวศการเรียนรู้ที่หลากหลาย 4) ผู้เรียนเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ได้ด้วยตนแอง 5) พลิกโฉมศักยภาพการเรียนรู้ของครูจากการเป็นผู้ถ่ายทอดเนื้อหาเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ ผลการศึกษาวิจัย การออกแบบนโยบายการพลิกโฉมระบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคตในปี 2040 ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ 1) รูปแบบการเรียนรู้ 2) ทรัพยากรการเรียนรู้ และ 3) การประเมินผลการเรียนรู้ มีรายละเอียดดังนี้ รูปแบบการเรียนรู้หลัก จำนวน 6 รูปแบบ ประกอบด้วย 1. การเรียนรู้อย่างมีความหมาย และมีคุณค่า (Purposeful and valuable learning) 2. การเรียนรู้ที่เสริมสร้างศักยภาพเฉพาะบุคคล (Personalized Learning) 3. การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-learning, Heutagogy) 4. การเรียนรู้การสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation Creation Learning) 5. การเรียนรู้การนำความรู้ประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง (Real life Application Learning) 6. การเรียนรู้ที่สร้างรายได้ระหว่างเรียน (Income generating learning) ทรัพยากรการเรียนรู้ จำนวน 11 ประเภท ประกอบด้วย 1. ระบบสนับสนุนความเป็นเลิศของผู้เรียน (Student Excellence Support System) 2. แหล่งเรียนรู้ชีวิตจริง (Real World Learning Space) 3. แหล่งเรียนรู้เฉพาะบุคคล (Personalize Learning Space) 4. แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ (Online Learning Space) 5. แหล่งเรียนรู้ในการทำงาน (Hands on Learning Space) 6. แหล่งเรียนรู้ร่วม (Co-learning Space) 7. แหล่งเรียนรู้สังคมประกิต (Socialization Learning Space) 8. แหล่งเรียนรู้นักประดิษฐ์หรือนวัตกร (Maker Space) 9. แหล่งเรียนรู้จำลอง (Simulation Learning Space) 10. แหล่งเรียนรู้เชิงจินตนาการ (Imagination Learning Space) 11. แหล่งเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น (Flexible Learning Space) การประเมินผลการเรียนรู้ จำนวน 6 รูปแบบ ประกอบด้วย 1. การประเมินเพื่อพัฒนา (Formative Assessment) 2. การประเมินการนำไปใช้ในชีวิตจริง (Real life application Assessment) 3. การประเมินด้วยการให้ข้อมูลย้อนกลับเชิงสร้างสรรค์ (Creative feedback) 4. การประเมินตนเอง (Self Assessment) 5. การประเมินแบบร่วมมือ (Collaborative Evaluation) 6. การประเมินผลลัพธ์-ผลกระทบ (Outcome-Impact Assessment) ในระบบการเรียนรู้ใหม่นี้ “ครู” จะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการพลิกโฉมระบบการเรียนรู้ใหม่ในฐานะของผู้อำนวยการการเรียนรู้ที่มุ่งเสริมสร้างให้ผู้เรียนเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ตลอดจนเป็นผู้เชี่ยวชาญการเรียนรู้ตลอดชีวิตภายใต้ระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต โดยครูจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ถ่ายทอดเนื้อหาหรือความรู้ตามตำรา สู่การเป็น “โค้ช” หรือ “ผู้อำนวยการการเรียนรู้” ทำหน้าที่กระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจ แนะนำวิธีเรียนรู้และวิธีจัดระเบียบการสร้างความรู้ ออกแบบกิจกรรมและสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียน และมีบทบาทเป็นนักวิจัยพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและนำการเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมผู้เรียนให้พร้อมสำหรับโลกอนาคตในปี 2040