ขนาดตัวอักษร ภาษา
รูปแบบที่เหมาะสมของการจัดบริการทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาระเลี้ยงดูครอบครัว : ศึกษาเฉพาะกรณีในเขตกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง
รูปแบบที่เหมาะสมของการจัดบริการทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาระเลี้ยงดูครอบครัว : ศึกษาเฉพาะกรณีในเขตกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันและปัญหาในการดำรงชีวิต และความต้องการบริการทางสังคมของผู้สูงอายุที่มีภาระเลี้ยงดูครอบครัว 2) เพื่อศึกษารูปแบบที่เหมาะสมของการจัดบริการทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาระเลี้ยงดูครอบครัว โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน (Mix Method) ระหว่างวิธีวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้แบบสอบถาม และวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้การสนทนากลุ่ม กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นต้องดูแลสมาชิกในครัวเรือน อาจจะด้วยความเต็มใจหรือไม่เต็มใจ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดำเนินโครงการบูรณาการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็งของสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 3 จำนวน 400 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ การแจกแจงค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัย พบว่า 1) สถานการณ์ปัญหาปัจจุบันของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง มีจำนวนสมาชิกในครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดูจำนวน 1 คน ส่วนใหญ่เป็นบุตร (บุตรสาว/ บุตรชาย/ บุตรเขย/ บุตรสะใภ้) สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้ต้องเป็นผู้ที่มีภาระในการเลี้ยงดูครอบครัว เนื่องจากผู้ที่อยู่ในความดูแลไม่มีอาชีพ/ รายได้ ปัจจุบันมีแหล่งที่มาของรายได้หลักจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รายได้บุคคลและรายได้ครัวเรือนต่อเดือน น้อยกว่า 3,000 บาท มีรายจ่ายบุคคลต่อเดือนน้อยกว่า 3,000 บาท ส่วนรายจ่ายครัวเรือนต่อเดือน 3,000 – 6,000 บาท มีหนี้สินบุคคลและหนี้สินครัวเรือนมากกว่า 20,000 บาทขึ้นไป 2) ระดับความรุนแรงของสภาพปัญหาของผู้สูงอายุในภาพรวมมีความรุนแรงในระดับน้อย (x ̅ = 2.47, S.D. = 1.21) ส่วนระดับความรุนแรงของสภาพปัญหาของผู้ที่อยู่ในความดูแลของผู้สูงอายุ ในภาพรวมมีความรุนแรงในระดับน้อย (x ̅ = 2.35, S.D. = 1.27) เช่นเดียวกัน 3) การเข้าถึงบริการทางสังคมและบริการด้านอื่น ๆ ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุและผู้ที่อยู่ในความดูแลสามารถเข้าถึงบริการทางสังคมและบริการด้านอื่น ๆ ได้ในระดับน้อยที่สุด (ร้อยละ 79.2) สำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่อยู่ในความดูแลที่สามารถเข้าถึงบริการทางสังคม จำแนกได้เป็น 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ เข้าถึงบริการจากโรงพยาบาล/ รพ.สต. มากที่สุด ในด้านการรักษาพยาบาล (ร้อยละ 59.0) ภาคประชาชน/ ภาคประชาสังคม เข้าถึงบริการจากเพื่อนบ้าน/ คนในชุมชน มากที่สุด ในด้านการให้คำปรึกษา และข้อมูลข่าวสาร (ร้อยละ 43.8) ส่วนภาคเอกชน ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากบริษัท/ ห้างร้าน (ร้อยละ 59.5) 4) ความต้องการที่จะได้รับบริการทางสังคม ในภาพรวมมีความต้องการระดับน้อย (x ̅ = 2.27, S.D. = 1.68) โดยด้านที่ผู้สูงอายุและผู้ที่อยู่ในความดูแลมีความต้องการมากที่สุด คือ ด้านบริการทางสังคมทั่วไป (x ̅ = 2.91, S.D. = 1.71) โดยผู้สูงอายุมีความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกในที่สาธารณะมากที่สุด (x ̅ = 3.01, S.D. = 1.74) สำหรับผู้ที่อยู่ในความดูแลมีความต้องการความสะดวกในการเข้าถึงบริการของภาครัฐมากที่สุด (x ̅ = 3.34, S.D. = 1.60) 5) รูปแบบที่เหมาะสมของการจัดบริการทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาระเลี้ยงดูครอบครัว ทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านรายได้และการมีงานทำ ส่งเสริมการ Upskill/Reskill ทางด้านอาชีพ, จัดบริการ Day Care 2. ด้านสุขภาพอนามัย ส่งเสริมการดูแลสุขภาพทุกช่วงวัยอย่างมีระบบและยั่งยืน 3. ด้านการศึกษา/การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สร้างแหล่งเรียนรู้และช่องทางการเข้าถึงที่หลากหลาย 4. ด้านที่อยู่อาศัย มีแผนชุมชนเรื่องบ้านมั่นคงและพื้นที่ปลอดภัยรองรับสังคมสูงวัย 5. ด้านนันทนาการ จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะด้านอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ 6. ด้านกระบวนการยุติธรรม สร้างความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง สร้างศูนย์ให้ความช่วยเหลือในชุมชน 7. ด้านบริการทางสังคมทั่วไป เสริมสร้างการรับรู้สิทธิ และสร้างนักเฝ้าระวังภัยในชุมชน

องค์กร :
สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันที่ปรับปรุงครั้งล่าสุด :
30 มีนาคม 2566
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
Office of the National Economic and Social Development Council (NESDC)
เลขที่ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
โทร : 0-2280-4085 ต่อ 6221-6241
โทรสาร : 02-280-6384, 02-628-2858
E-mail : open-d@nesdc.go.th
All rights reserved 2016 - NESDC. Powered By NECTEC.