ระบบประปาชนบท หรือ ระบบประปาหมู่บ้าน หรือ ระบบน้ำดื่มสะอาดสำหรับหมู่บ้านหมายถึงระบบประปาที่ใช้น้ำบาดาล หรือน้ำผิวดินเป็นแหล่งน้ำดิบ มีอัตราการผลิตไม่เกิน 50 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง มีระบบการทำงานแบบง่ายๆไม่ซับซ้อนให้บริการแก่ประชาชนในชนบท หรือบางพื้นที่ของเขตเมือง เป็นระบบประปาที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการก่อสร้างโดยหน่วยงานต่างๆหลายหน่วยงานในอดีต เช่น กรมอนามัย กรมโยธาธิการ กรมทรัพยากรธรณี กรมการเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) หลังการปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ. 2545 มีการถ่ายโอนภารกิจให้ ระบบประปาในส่วนท้องถิ่น เป็นหน้าที่รับผิดชอบของ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยส่วนมากของต้นทุนน้ำที่ทำการผลิตประปาหมู่บ้านเป็นน้ำบาดาล เนื่องจากเป็นน้ำที่สามารถใช้ได้ตลอดทั้งปี ในปัจจุบันปัญหาที่เกิดจากภาวะภัยแล้งอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดการขาดแคลนแหล่งน้ำดิบสำหรับอุปโภคบริโภค น้ำบาดาลเป็นน้ำที่ถูกกักเก็บไว้อยู่ใต้ดินตามรอยแตก รอยแยกของชั้นดินชั้นหินต่างๆ ดังนั้นน้ำบาดาลจึงเป็นน้ำที่ค่อนข้างคุณภาพคงที่และไม่มีผลกระทบจากการระเหยของสภาวะโลกร้อนทำให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตลอดทั้งปีแหล่งน้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำดิบที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จึงเป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญในการผลิตระบบประปา โดยคุณภาพน้ำบาดาลในแต่ละพื้นที่ก็มีคุณภาพที่แตกต่างกัน เนื่องจากคุณภาพน้ำบาดาลในแต่ละพื้นที่มีความหลากหลายขึ้นอยู่กับสภาพทางธรณีวิทยาของน้ำที่ถูกกักเก็บ สภาพการปนเปื้อนของปัจจัยทางภายนอกลงสู่แหล่งน้ำบาดาลทำให้คุณภาพของน้ำบาดาลมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการนำน้ำบาดาลเพื่อใช้ผลิตระบบประปาจึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบคุณภาพว่ามีความเหมาะสมต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในประเภทใด เช่น การอุปโภคบริโภค การเกษตร การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ตลอดจนช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ
ไม่พบข้อเสนอแนะ