ขนาดตัวอักษร ภาษา
ทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต(Future Skill) เพื่อเตรียม การพัฒนาคุณภาพคนไทยทุกช่วงวัย รองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว(Disruption) ของ โลกศตวรรษที่ 21
ทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต(Future Skill) เพื่อเตรียม การพัฒนาคุณภาพคนไทยทุกช่วงวัย รองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว(Disruption) ของ โลกศตวรรษที่ 21

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruption) ของโลกศตวรรษที่ 21 ส่งผลให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้านทั้งในมิติทางสังคมและทางเทคโนโลยี นำไปสู่รูปแบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อเตรียมการพัฒนาคุณภาพคนให้สอดรับกับความต้องการทักษะ องค์ความรู้ และคุณลักษณะของโลกศตวรรษที่ 21 การศึกษาครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต (Future Skill) และจัดทำแนวทางการส่งเสริมทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต (Future Skill) ที่เหมาะสมกับบริบทของคนไทย ในการศึกษาครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้จำแนกสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruption) ของโลกศตวรรษที่ 21 ออกเป็น 5 สถานการณ์ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร (Population Disruption: P) ความหลากหลายของคนต่างช่วงวัยและยุคสมัย (Generation Disruption: G) การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี (Technology Disruption: T) การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอาชีพและลักษณะการทำงาน (Career Disruption: C) และการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบและกระบวนการเรียนรู้ (Learning Disruption: L) จากการศึกษาข้อมูลเชิงคุณภาพและประมวลผลจากบทความทางวิชาการ รายงาน ผลงานวิจัยและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์เชื่อมโยงให้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพคนไทยทุกช่วงวัยตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นที่ 11 และ 12 ได้ผลสรุปเป็นชุดทักษะแห่งอนาคตทั้งสิ้น 41 ทักษะ ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับแต่ละช่วงวัยในการรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruption) แตกต่างกัน จากการสำรวจและรวบรวมความคิดเห็นของคณะผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ความสามารถในหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ที่มีบทบาทในการเตรียมความพร้อมคุณภาพคนไทยแต่ละช่วงวัยในบริบทต่าง ๆ กรอบทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต (Future Skill) สำหรับคนไทยแต่ละช่วงวัยที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ถือได้ว่ามีความถูกต้องและค่อนข้างครบถ้วน นอกจากนั้น เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการพัฒนา คณะผู้วิจัยได้จัดลำดับความสำคัญทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต 5 อันดับแรก ในแต่ละช่วงวัย โดยพิจารณาจากความหลากหลายในการรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruption) และการประมวลผลความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ได้ผลการจัดลำดับ ดังตารางด้านล่างนี้ ตารางสรุปผลการจัดลำดับความสำคัญทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต (Future Skill) อันดับ ทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต (Future Skill) ทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต (Future Skill) สำหรับช่วงปฐมวัย 1 การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) 2 ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) 3 ความสามารถทางกายภาพ (Physical Ability) การแก้ปัญหา (Problem Solving) การสื่อสาร (Communication Skills) 4 การอ่านออกเขียนได้ (Literacy) 5 ความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) การเข้าใจผู้อื่น (Empathy) ทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต (Future Skill) สำหรับช่วงวัยเรียน/วัยรุ่น 1 ความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) 2 การอ่านออกเขียนได้ (Literacy) 3 การเป็นผู้เรียนเชิงรุก (Active Learner) 4 การเป็นพลเมืองที่ดี (Civic Literacy) 5 ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต (Future Skill) สำหรับช่วงวัยแรงงาน 1 ความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) การแก้ปัญหา (Problem-solving) 2 ความรู้ทางธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ (Business and Entrepreneurial Literacy) 3 การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) 4 การทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaborative Skills) 5 การปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่หลากหลาย (Cross-cultural Competence) ทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต (Future Skill) สำหรับช่วงวัยผู้สูงอายุ 1 การปรับตัว (Adaptability) 2 การมองโลกในแง่ดี (Grounded Optimism) 3 ความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) 4 ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ (Health Literacy) การเข้าใจผู้อื่น (Empathy) 5 การแก้ปัญหา (Problem-solving)

จากผลสรุปชุดทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต (Future Skill) สำหรับคนไทยแต่ละช่วงวัย เพื่อรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruption) ของศตวรรษที่ 21 ที่แตกต่างกันนั้น คณะผู้วิจัยได้วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประมวลผลเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหลักการและแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป ครอบคลุมทั้ง 4 มิติซึ่งเกี่ยวพันกัน ได้แก่ มิติเชิงนโยบาย กระบวนการจัดการเรียนรู้ สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยี ทั้งนี้ สามารถสรุปจุดเน้นที่สำคัญในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต (Future Skill) สำหรับแต่ละช่วงวัยได้ ดังนี้ 1) ช่วงปฐมวัย การส่งเสริมการพัฒนาช่วงวัยนี้ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้สำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างปลอดภัย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีมุมมองต่อโลกได้อย่างกว้างขวาง มีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาทุกด้านพร้อมกัน ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ควบคู่กับการพัฒนาผู้ปกครอง ผู้ดูแล และครูให้มีความรู้เกี่ยวกับวิธีการพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยเฉพาะ ดังนั้นใน การขับเคลื่อนควรมีนโยบายและการจัดสรรงบประมาณทางการศึกษาเพื่อการพัฒนาเด็กช่วงปฐมวัยโดยเฉพาะและครอบคลุมทั้ง 2 มิติข้างต้น ให้สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นในการเรียนรู้ มีการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนโดยใช้กิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงอายุ ลักษณะ การเรียนรู้ และความสนใจของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรียน แบบการแบ่งปันความคิดร่วมกันอย่างยั่งยืน การจัดการเรียนรู้ที่ไม่เป็นทางการ และการจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการเรียนรู้ร่วมกัน มีพื้นที่ตรงความต้องการ สนับสนุนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง เสริมสร้างพัฒนาการทางสมอง และให้ความเป็นอิสระแก่เด็กในการสำรวจ แสดงออก และเข้าสังคมอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงมีการจัดสรรสื่อและเทคโนโลยี ทั้งสื่อดั้งเดิมและสื่อดิจิทัลเพื่อเป็นส่วนเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของ เด็กปฐมวัยให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น 2) ช่วงวัยเรียน/วัยรุ่น การส่งเสริมการพัฒนาช่วงวัยนี้ ควรให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นและ ความหลากหลาย ครอบคลุมการพัฒนาทั้งกาย ใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ตลอดจนทักษะพื้นฐานและทักษะที่เชื่อมสู่โลกการทำงาน ไม่จำกัดการเรียนรู้อยู่แต่เพียงในตำราหรือในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ส่งเสริม การค้นหาตัวตนและความถนัดของตัวเด็กเอง และจัดให้มีช่องทางการเรียนรู้ ที่สามารถตอบสนองความต้องการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ทันทีทั้งในและนอกระบบการศึกษา ดังนั้นในการขับเคลื่อนทางนโยบายจึงควรครอบคลุมตั้งแต่การปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนให้ทันสมรรถนะและ ความต้องการเรียนรู้ของผู้เรียน สนับสนุนการพัฒนาและยกระดับวิชาชีพครูควบคู่กัน บริหารและจัดการศึกษาแบบกระจายอำนาจ กระบวนการเรียน การสอนเองก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการยิ่งขึ้น เรียนรู้ร่วมกับการทำงาน ได้เสริมสร้างสมรรถนะจากประสบการณ์จริง และมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการจัดการศึกษา ขณะที่สภาพแวดล้อมทางการศึกษาควรสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ จัดหาพื้นที่สาธารณะใน การจัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะแก่เด็กในช่วงวัยนี้ มีการพัฒนาและออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงและจัดสรรเป็นสัดส่วน รองรับกิจกรรมการเรียนรู้และการทำงานที่แตกต่างกัน ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงและเกิดปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนระหว่างกัน รวมถึงนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ช่วยส่งเสริมการจัด การเรียนการสอน ซึ่งเทคโนโลยีการศึกษาที่สามารถช่วยส่งเสริมการพัฒนาทักษะในช่วงวัยเรียน/วัยรุ่นมีหลากหลาย เช่น สื่อการศึกษาเพื่อใช้ประกอบการเรียนรู้ แพลตฟอร์มสำหรับเป็นช่องทางการเข้าถึงการเรียน การสอนและแหล่งข้อมูล และนวัตกรรมเกี่ยวกับการวิเคราะห์ฐานข้อมูล ขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อช่วยในการประมวลผลข้อมูลผู้เรียน ติดตามความก้าวหน้าในการเรียนรู้ เชื่อมโยงการเรียนรู้แบบผสมผสานจากหลายแพลตฟอร์ม ตลอดจนช่วยในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองผู้เรียนแต่ละคน เสริมสร้างแรงจูงใจ และสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยการกำกับตนเอง 3) ช่วงวัยแรงงาน การส่งเสริมการพัฒนาในช่วงวัยนี้ควรเสริมสร้างความต้องการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่เชื่อมโยงตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยโอกาสในการพัฒนาตนเองนี้ควรมีทั้งแบบเป็นทางการและ ไม่เป็นทางการ และต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมให้ วัยแรงงานมีความรู้ สามารถปรับตัวเพื่อประกอบชีพได้แม้ในสถานการณ์ที่ ไม่อาจคาดการณ์ได้ ดังนั้นนโยบายทางสังคมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ มีการสนับสนุนเงินทุนแก่ประชาชนเพื่อใช้พัฒนาตนเองตามความสนใจและความถนัด สนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับการเรียนรู้ในสถานที่ทำงาน และการเรียนรู้ด้วยวิธีผสมผสาน บูรณาการข้ามสาขาวิชาได้ เพื่อให้ลูกจ้างได้เรียนรู้ในการทำงาน เป็นผู้เรียนเชิงรุก มีสถาบันการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่โดยเฉพาะ ทำหน้าที่พัฒนาวิธีการสอนสำหรับผู้ใหญ่ พัฒนาหลักสูตรโดยเฉพาะขึ้นเพื่ออบรมนักการศึกษาผู้ใหญ่ และหลักสูตรในการเพิ่มทักษะ ในสายอาชีพที่ต่างกันของวัยแรงงาน กระบวนการเรียนการสอนก็ควรเน้นแนวทางผู้เรียนเป็นศูนย์กลางสำหรับการสอนผู้ใหญ่เช่นกัน โดยผู้สอนจะ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก นำความเชี่ยวชาญของผู้เรียนมาเป็นฐานและปล่อยให้ผู้เรียนรู้สามารถวางแนวทางการเรียนรู้ตามจังหวะของตนเอง เน้นการเรียนรู้และการอบรมที่มีคุณภาพสูง ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติและ จากประสบการณ์จริงในการทำงาน สภาพแวดล้อมในที่ทำงานก็ควรเป็นสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้และความคิดการเติบโตร่วมกันภายในองค์กร กำหนดเส้นทางความก้าวหน้าของอาชีพที่ชัดเจน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้พนักงานพัฒนาตนเองเพื่อไปสู่ความสำเร็จ สร้างการมีส่วนร่วมซึ่งก่อให้ เกิดการเติบโตและการเรียนรู้ สำหรับเทคโนโลยีทางการศึกษา นอกจากเทคโนโลยีที่ใช้เพื่อเป็นสื่อประกอบและช่องทางในการเรียนรู้และสร้างเครือข่ายเพื่อสนับสนุนกระบวนการทำความเข้าใจ กลั่นกรอง และตกผลึก องค์ความรู้แล้ว ยังสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อ ติดตามความก้าวหน้าใน การอบรม เชื่อมโยงผลการเรียนรู้มาช่วยสนับสนุนการประเมินผลการปฏิบัติงานและการวางแผนเส้นทางการเติบโตทางอาชีพ และส่งเสริม ให้เกิดการประยุกต์ใช้ทักษะและความรู้ที่ได้รับการพัฒนาไปสู่การทำงานจริง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของแรงงานและประสิทธิภาพในการทำงานต่อไป 4) ช่วงวัยผู้สูงอายุ การส่งเสริมการพัฒนาในช่วงวัยนี้ ควรสร้างและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ สนับสนุนการนำความรู้ ประสบการณ์ของผู้สูงวัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ชุมชน และตัวผู้สูงวัยเอง เพื่อเสริมสร้างคุณค่าและต่อยอดบทบาทในสังคมและตลาดแรงงานของผู้สูงอายุ และรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างยั่งยืน นโยบายเกี่ยวกับ การพัฒนาทักษะให้กับผู้สูงอายุ รวมไปถึงการส่งเสริมการจ้างงานใน กลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น ให้ผู้สูงอายุยังสามารถเป็นพลังใน การขับเคลื่อนประเทศการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุ ต้องคำนึงถึงพฤติกรรมและความสามารถในการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมสำหรับคนช่วงวัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมที่เน้นประสบการณ์ การอภิปราย การเรียนรู้แบบร่วมมือกัน การใช้ทักษะและความรู้ที่เป็นต้นทุนเดิมในการต่อยอด และการบูรณาการการเรียนรู้ สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ก็ควรได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับลักษณะ การเรียนรู้ เนื่องจากผู้สูงอายุต้องการสภาพแวดล้อมที่เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เป็นสภาพแวดล้อมที่สนับสนุน ไม่เป็นทางการ สามารถสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย และเป็นมิตรต่อการเรียนรู้ สำหรับเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ของผู้สูงอายุส่วนใหญ่อาจเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน เป็นหลัก นอกจากนั้นก็คือเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของช่วงวัยนี้ การส่งเสริมเทคโนโลยีที่ได้รับการออกแบบสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึง รับสาร ใช้ชีวิต และพัฒนาตัวเองของผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงธรรมชาติและลักษณะการเรียนรู้ของผู้สูงอายุเป็นพื้นฐานในการออกแบบ เพื่อสามารถส่งเสริมเทคโนโลยีการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการ ในการพัฒนาตัวเองและสนับสนุนการเรียนรู้ของช่วงวัยนี้ได้อย่างเหมาะสม

องค์กร :
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
วันที่ปรับปรุงครั้งล่าสุด :
31 ธันวาคม 2564
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
Office of the National Economic and Social Development Council (NESDC)
เลขที่ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
โทร : 0-2280-4085 ต่อ 6221-6241
โทรสาร : 02-280-6384, 02-628-2858
E-mail : open-d@nesdc.go.th
All rights reserved 2016 - NESDC. Powered By NECTEC.