สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นองค์กรหลักในกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดทิศทางและนโยบายด้านการศึกษาของชาติ พัฒนานโยบาย และประสานการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ และกำหนดมาตรฐานการศึกษาของชาติ โดยได้จัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 อันสอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือ ต้องการให้คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21 และผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ IMD 2019 พบว่า ความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 56 จากทั้งหมด 63 ประเทศ ลดลง 2 อันดับจากปี 2018 ดังนั้น ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องตื่นตัวในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยการปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการที่มุ่งเน้นการใช้องค์ความรู้ในการจัดการ และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของปัจจัยสนับสนุน ความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการปรับปรุงการบริหารจัดการทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค รวมทั้งการปรับเปลี่ยนบทบาทและแนวทางการจัดการในภาครัฐทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้บูรณาการและเป็นพลวัตต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลก เพื่อเสริมสร้างและรักษาไว้ซึ่งผลิตภาพควบคู่ไปกับการสร้างศักยภาพในการแข่งขันกับนานาชาติ อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน (สำนักพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ให้เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศที่มั่นใจเข้ามาลงทุน ตลอดจนการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้จัดทำตัวชี้วัด เพื่อการประเมินคุณภาพการศึกษาที่เป็นมาตรฐานกลางในการประเมินคุณภาพการศึกษารายจังหวัด เพื่อให้ทราบถึงคุณภาพการศึกษาของแต่ละจังหวัดว่าอยู่ในระดับใด มีจุดเด่นและมีจุดด้อยที่ต้องปรับปรุงพัฒนา สนับสนุนหรือส่งเสริมการบริหารจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ เท่าเทียม และทั่วถึงได้ตามบริบท การประเมินคุณภาพการศึกษาระดับจังหวัดของประเทศไทยที่มุ่งเน้นสัมฤทธิ์ผลของผู้เรียน โดยผ่านกระบวนการบริหารจัดการศึกษาที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ครอบครัว ชุมชน และสังคมได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ให้แต่ละจังหวัดมีการบูรณาการและวางแผนร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา จากการศึกษาทฤษฎี งานวิจัย รวมถึงข้อมูลจากหน่วยงานที่มีการกำหนดตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ อาทิ UNESCO World Competitiveness Yearbook (WCY) Global Competitiveness Index (GCI) ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคม (Social Progress Index : SPI) ดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI) ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (HDI) ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) แผนการศึกษาแห่งชาติ เป็นต้น สามารถสรุปกรอบการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับจังหวัดของประเทศไทย ได้ทั้งหมด 10 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) (2) อัตราการเรียนต่อในระดับ ม.ปลาย (3) ร้อยละของประชากรอายุ 25-34 ปี ที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาขึ้นไป (4) ร้อยละของประชากรอายุ 6-14 ปี สามารถอ่าน/เขียน/คำนวณได้ (5) ร้อยละของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีคะแนน O-NET วิชาภาษาไทย มากกว่า 50 คะแนน (6) ร้อยละของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีคะแนน O-NET วิชาคณิตศาสตร์ มากกว่า 50 คะแนน (7ร้อยละของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีคะแนน O-NET วิชาภาษาอังกฤษ มากกว่า 50 คะแนน (8) ร้อยละของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีคะแนน O-NET วิชาสังคมศึกษา มากกว่า 50 คะแนน (9) ร้อยละของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีคะแนน O-NET วิชาวิทยาศาสตร์ มากกว่า 50 คะแนน และ (10) ร้อยละของสถานศึกษาที่มีผลการประเมินคุณภาพภายนอกอยู่ในระดับดีขึ้นไป ทั้งนี้ ได้ศึกษาโครงสร้างปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย โดยการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน (Confirmatory Factor Analysis, CFA) จากการศึกษาทฤษฎีและแนวคิดเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพการศึกษา พบว่า องค์ประกอบยืนยันของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย ที่ระดับนัยสำคัญ 0.01 ("χ" 2 = 32.67, df = 28, p-value =0.25) โดยค่าน้ำหนักขององค์ประกอบสูงที่สุดเป็นร้อยละของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีคะแนน O-NET วิชาวิทยาศาสตร์ เท่ากับ 0.94 รองลงมาเป็นร้อยละของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีคะแนน O-NET วิชาสังคมศึกษา เท่ากับ 0.92 ร้อยละของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีคะแนน O-NET วิชาภาษาอังกฤษ เท่ากับ 0.91 ร้อยละของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีคะแนน O-NET วิชาคณิตศาสตร์ เท่ากับ 0.79 ร้อยละของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีคะแนน O-NET วิชาภาษาไทย เท่ากับ 0.77 ร้อยละของประชากรอายุ 25-34 ปี ที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาขึ้นไป เท่ากับ 0.48 ร้อยละของสถานศึกษาที่ผ่านการประเมินคุณภาพภายนอกในระดีขึ้นไป เท่ากับ 0.48 ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรวัยแรงงาน เท่ากับ 0.44 และร้อยละของประชากรอายุ 6-14 ปี สามารถอ่าน/เขียน/คำนวณได้ เท่ากับ 0.25 ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยในภาพรวมอยู่ในระดับพอใช้ เท่ากับ 7.63 คะแนน จากคะแนนเต็ม 30 คะแนน โดยตัวชี้วัดที่มีคะแนนสูงที่สุด คือ ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) เท่ากับ 2.29 คะแนน รองลงมา คือ ร้อยละของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีคะแนน O-NET วิชาภาษาไทย มากกว่า 50 คะแนน เท่ากับ 2.18 คะแนน และน้อยที่สุด คือ ร้อยละของประชากรอายุ 6-14 ปี สามารถอ่าน/เขียน/คำนวณได้ เท่ากับ 0.00 คะแนน การประเมินคุณภาพการศึกษารายจังหวัดมีทั้งหมด 3 กลุ่ม คือ กลุ่มจังหวัดที่อยู่ในระดับดี พอใช้ และควรปรับปรุง โดยจังหวัดส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มระดับพอใช้ มีทั้งหมด 50 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 38.50 กลุ่มระดับควรปรับปรุง 23 จังหวัดคิดเป็นร้อยละ 29.87 และน้อยสุดเป็นกลุ่มระดับดี 4 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 5.19 ซึ่งอยู่ในภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพ นนทบุรี สมุทรปราการ และภาคใต้ ได้แก่ ตรัง