PDF รายงานการศึกษาแนวทางการเพิ่มศักยภาพศูนย์การเรีย ...
การศึกษาแนวทางการเพิ่มศักยภาพศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยในการอนุรักษ์สืบสานทรัพยากร พื้นถิ่นอย่างยั่งยืน เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูล ศึกษาเอกสาร สัมภาษณเชิงลึก (In-depth Interview) ลงพื้นที่ เพื่อให้ทราบถึงประเด็นการศึกษา โดยคัดเลือกศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยด้านเกษตรกรรมที่มีลักษณะโด่ดเด่น จำนวน 4 แห่งจาก 4 ภูมิภาค เป็นกรณีศึกษา ได้แก่ (๑) ศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยของ ครูสุทิน ทองเอ็ม จังหวัดสุโขทัย (๒) ศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยของ ครูพิมพา มุ่งงาม จังหวัดยโสธร (๓) ศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยของ ครูดอเล๊าะ สะตือบา จังหวัดยะลา (๔) ศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยของ ครูบุญลือ เต้าแก้ว จังหวัดสระบุรี ผลการศึกษาพบว่า ครูในศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยทั้ง 4 แห่ง มีคุณลักษณะที่สำคัญ ดังนี้ ๑) เป็นผู้มีความใฝ่เรียนรู้ ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาต่อยอดอาชีพเกษตรกรรมของตนเองอยู่เสมอ ๒) มีจิตสาธารณะ ยอมเสียสละเวลาส่วนตัว เผยแพร่ความรู้แก่เกษตรกร ๓) เป็นผู้นำทางความคิด เป็นผู้นำทาง วิชาการด้านการเกษตร ๔) มีความคิดก้าวหน้าในการมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ยึดหลักคิดแบบกระบวนการวิทยาศาสตร์ ค้นหาความรู้ ทดลองแก้ปัญหาต่างๆ และสรุปเป็นองค์ความรู้ ๕) เป็นที่ยอมรับให้เป็นผู้นำในชุมชน แนวทางสู่ความสำเร็จของศูนย์การเรียนฯ ของครูภูมิปัญญาไทย ทั้ง ๔ แห่ง สรุปได้ดังนี้ ด้านการพัฒนาต่อยอดอาชีพ ครูมีแนวคิดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับแนวคิด เรียนรู้ด้วยตนเอง (SDL : Self Directed Learning) ซึ่งสามารถพัฒนาสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต ตามแนวคิด SLD นั้น ประกอบด้วย ๔ ขั้น คือ ๑) สร้างแรงจูงใจในตนเอง ๒) การจัดการตนเอง คือการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน รวบรวมข้อมูลและวางแผนพัฒนา ๓) การตรวจสอบตนเอง พิจารณาผลการดำเนินการที่ผ่านมา ประเมินตนเองอย่างต่อเนื่อง และ ๔) ปรับเปลี่ยนตนเอง เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ นำมาเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน ครูศึกษาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และน้อมนำมาปฏิบัติ มีการจัดสรร ที่ดิน จัดทำบัญชีครัวเรือน ดำเนินงานศูนย์แบบครบวงจร คือเป็นทั้งแหล่งผลิต แปรรูป และใช้กระบวนการทางการตลาดจัดจำหน่าย เช่น ใช้ “หลัก ๓ ต” คือ “ต้นทุน แตกต่าง ตลาด” ผลิตภัณฑ์โดดเด่น เช่น ทำชาจากไม้ไผ่ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่ได้รับการยอมรับส่งออกต่างประเทศ ตามมาตรฐานของ Fair Trade Original การทำชาจากข้าว ปลูกสละอินโดด้วยน้ำหมักนมสด ทำให้รสชาติหวานกรอบ มีผลทั้งปี เป็นต้น ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ใช้การสร้างศรัทธาและแรงจูงใจให้ชุมชน/เยาวชน เชื่อในวิถีเกษตรพื้นบ้าน เกษตรเชิงอนุรักษ์ รักษาสิ่งแวดล้อม โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปลูกพืชแบบผสมผสาน ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการถ่ายทอด สืบสาน เน้นการเรียนรู้จากของจริง และลงมือปฏิบัติจริง ใช้หลักการมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้ผู้เรียนค้นหาความถนัด ความสนใจของตน น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาถ่ายทอด ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง มีการจัดทำฐานการเรียนรู้ เช่น พอใช้ (สอนการบำรุงดิน ผลิตของใช้ในครัวเรือน) พอกิน (ปลูกพืช สวนครัว พืชกินได้) พออยู่ (ทำโรงเรือน) พอร่มเงา (ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย) พอเพียง (หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้ความรู้เรื่อง การลงทุน รายรับ รายจ่าย การออม) สำหรับแนวทางการเพิ่มศักยภาพสำหรับศูนย์การเรียน บทบาทของศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยด้านเกษตรในอนาคต ควรพัฒนาให้เป็น “แหล่งเรียนรู้ทรัพยากรทางการเกษตร” ซึ่งเป็นแหล่งรวมของการให้คำปรึกษา ฝึกอบรม ผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และมีระบบสารสนเทศ ควรมีการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีให้มีฐานข้อมูลเกษตรเฉพาะด้านตามความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านทรัพยากรเกษตร รวมถึงควรสนับสนุนการฝึกอบรมทั้ง ๒ ทาง คือ สนับสนุนให้ครูภูมิปัญญาถ่ายทอดความรู้สู่เครือข่าย ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ครูได้เรียนรู้จากเครือข่ายที่สามารถเสริมสร้างมุมมองหรือเพิ่มเติมองค์ความรู้ให้กับครูภูมิปัญญาไทยในด้านที่ครูยังไม่เชี่ยวชาญ
ข้อมูลเพิ่มเติม
วันที่ปรับปรุงครั้งล่าสุด | 30 ธันวาคม 2564 |
---|---|
รูปแบบ | |
ขนาดไฟล์ (ไบต์) | 2775915 |