Text Size Languages
ระบบการดูแลทางสังคมและการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 3
ระบบการดูแลทางสังคมและการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 3

การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ปัญหาและปัจจัยที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเพื่อศึกษาระบบการดูแลและป้องกันให้แก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์/ตั้งครรภ์ซ้ำ บุตร และครอบครัว ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) และการสนทนากลุ่ม (Focus group) ผู้ให้ข้อมูลจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1) ข้อมูลจากวัยรุ่นตั้งครรภ์ซ้ำจำนวน 40 คน 2) ข้อมูลของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือสมาชิกในครอบครัวที่มีฐานะเป็นผู้ดูแลวัยรุ่น จำนวน 40 คน และ 3) ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางสังคมอีก 15 คน รวมเป็น 95 คน ผลการศึกษาวิจัยพบว่า จากข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปี 2565 สถานการณ์การตั้งครรภ์ซ้ำระหว่างปี 256 3-2565 มีจำนวน 76 คน,55 คนและ 52 คน ลดลงตามลำดับ ผู้ให้ข้อมูลหลักส่วนใหญ่ มีอายุ 18-20 ปี จบการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ร้อยละ 66 และประกอบอาชีพรับจ้างและว่างงาน รวมสูงถึงร้อยละ 69 ส่วนการศึกษาของบิดาและมารดาจบการศึกษาระดับประถมศึกษามากที่สุด รายได้รวมของครอบครัวส่วนใหญ่ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน การตั้งครรภ์ครั้งแรกมีอายุระหว่าง 13-15 ปี ร้อยละ 40 และสาเหตุเกิดจากการคุมกำเนิดพลาดและไม่ได้ป้องกัน ร้อยละ 60 ส่วนการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น มีอายุระหว่าง 15-17 ปี ร้อยละ 32.3 สาเหตุที่ตั้งครรภ์ซ้ำ ยังเป็นการคุมกำเนิดพลาดและไม่ได้ป้องกัน ร้อยละ 58 ความห่างในการตั้งครรภ์ครั้งแรกและการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น น้อยกว่า 1 ปี ร้อยละ 50 ซึ่งการตั้งครรภ์ที่เหมาะสมควรห่างกันอย่างน้อย 2 ปี เพื่อสุขภาพของมารดาและเด็ก มีการคุมกำเนิดหลังคลอด 1 เดือน ส่วนใหญ่ใช้วิธีกินยาคุมกำเนิด แต่มีข้อกังวล คือไม่คุมกำเนิดด้วยวิธีใด ๆ เลย ทัศนคติของครอบครัวต่อการตั้งครรภ์ครั้งแรกมองว่าไม่มีผลกระทบในทางลบ สามารถรับมือได้ แต่เมื่อตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น มีทัศนคติใหม่ว่ามีผลกระทบทางลบอย่างแน่นอนและเป็นปัญหาในด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา และด้านสุขภาพ การทำหน้าที่ของระบบทางสังคมต่อการตั้งครรภ์/การตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น ผู้ให้ข้อมูล มองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยลดความกังวลและผลกระทบลง เพราะมีการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น 1) สถานศึกษา ให้เรียนต่อจนจบ 2) สถานพยาบาล ให้ความช่วยเหลือดูแลอย่างดียิ่งต่อกระบวนการตั้งครรภ์และการคลอด และ 3) การขอรับคำปรึกษาด้านอื่น ๆ ส่วนระบบช่วยเหลือเกื้อกูลการตั้งครรภ์วัยรุ่นและการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่นนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่มในอัตราใกล้เคียงกัน ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ไม่ได้ขอความช่วยเหลือกับหน่วยงานใดนอกจากสถานพยาบาลที่ฝากครรภ์ กลุ่มที่ 2 ขอรับ ความช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ ดังนี้ 1. ด้านการเงิน/สิ่งของสนับสนุน 2. ด้านบริการสุขภาพแวดล้อมอื่น ๆ 3. ด้านการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น โดยระบบทั้งสามด้านนี้ เป็น การทำงานเชิงรับเป็นหลัก และกลุ่มเจ้าหน้าที่ในฐานะผู้ให้บริการ ทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสาธารณสุข กลุ่มการศึกษา และกลุ่มบริการสังคม ระบุว่างานในหน้าที่และความรับผิดชอบที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีการดำเนินการทั้งงานในเชิงรับและเชิงรุก แต่ยังมีคอขวดในการทำงาน คือ ระเบียบของราชการที่ไม่เอื้อและเป็นอุปสรรค การแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานมีน้อย ขาดความต่อเนื่องของงานและนโยบายของผู้บริหารต่องาน มีจุดคานงัดที่จะทำให้การพัฒนางานการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นให้มีประสิทธิภาพ คือ 1. ต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับตัววัยรุ่นเอง 2 .มีระบบบริการดิจิทัลที่ผู้รับบริการเข้าถึงได้ตลอดเวลา(เชิงรุก) 3. นโยบายและความต่อเนื่องของงาน 4. การมอบหมายงานที่ชัดเจนและระบบการประเมินติดตามผลที่เที่ยงตรง 5. การบูรณาการงานกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างแท้จริง ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ด้านสังคม ภาครัฐควรมีนโยบายที่ส่งเสริมครอบครัวให้มีเหตุผลและใช้พลังทางบวกในการดูแลกันและกัน ด้านการศึกษา การพัฒนาการศึกษานอกระบบที่เข้มแข็ง เป็นมิตรและมีความยืดหยุ่นสูง ส่วนการศึกษาในระบบ ส่งเสริมให้ครูมีเวลาสร้างสัมพันธภาพและดูแลเด็ก ๆ มากขึ้น ลดภาระงานวิชาการ และด้านสุขภาพ ควรมีบริการสุขภาพแบบเฉพาะสำหรับวัยรุ่นตั้งครรภ์ เป็นบริการที่เข้าถึงได้ง่ายและเป็นมิตรสูง การสร้างความตระหนักรู้ให้กับวัยรุ่นถึงผลกระทบต่อชีวิตตนเองในระยะยาว(Awareness) และที่สำคัญหน่วยงานภาครัฐควรมีการทบทวน เพื่อการลดทอนงานที่มีความซ้ำซ้อนของหน่วยงาน จะทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) และเกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น

Organizations :
สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
Metadata last updated :
April 1, 2024
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
Office of the National Economic and Social Development Council (NESDC)
เลขที่ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
โทร : 0-2280-4085 ต่อ 6221-6241
โทรสาร : 02-280-6384, 02-628-2858
E-mail : open-d@nesdc.go.th
All rights reserved 2016 - NESDC. Powered By NECTEC.