Text Size Languages
โครงการศึกษาชุมชนอาเซียนในประเทศไทย : มาตรการ กลไก เพื่อการคุ้มกันผลกระทบทางสังคม
โครงการศึกษาชุมชนอาเซียนในประเทศไทย : มาตรการ กลไก เพื่อการคุ้มกันผลกระทบทางสังคม

โครงการศึกษาชุมชนอาเซียนในประเทศไทย : มาตรการ กลไก เพื่อการคุ้มกัน ผลกระทบทางสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์และผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีชุมชนอาเซียนอาศัยอยู่ และเพื่อสร้างมาตรการ กลไกเพื่อการคุ้มกันผลกระทบทางสังคมจากการอยู่ร่วมกันของชาวอาเซียนในประเทศไทย โดยการศึกษาที่เน้นเฉพาะผลกระทบทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อประเด็นความมั่นคงของมนุษย์ 12 มิติ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายคนไทยและชาวอาเซียน ที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนไทยเป็นสำคัญ คณะผู้วิจัยเลือกใช้วิธีวิทยาการวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Methodology) โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จากกลุ่มผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญทั้งคนในชุมชนและชาวอาเซียน กระบวนการในการวิจัยเริ่มจากการศึกษาค้นคว้าข้อมูล และทบทวนวรรณกรรม เพื่อสังเคราะห์แนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงได้มีการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณด้วยการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จำนวน 1,600 คน โดยใช้แบบสอบถาม เพื่อให้เข้าใจทัศนคติของคนไทยในชุมชนที่มีชาวอาเซียนที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในพื้นที่ชุมชน ในส่วนของการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ การวิจัยฉบับนี้ใช้วิธีการสัมภาษณ์ การจัดเวทีการสนทนากลุ่ม การเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพมีประชากรกลุ่มเป้าหมายจำนวน 258 คน แยกเป็น คนไทย 179 คน คนต่างชาติ 79 คน จากชุมชนที่จำแนกตามเขตพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละ สสว.

  1. สถานการณ์และผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีชุมชนอาเซียนอาศัยอยู่ 1.1 สถานการณ์พื้นฐาน 1) มีชาวอาเซียนพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย จำนวน 3.5 - 4 ล้านคน โดยมีแรงงาน 2.7 ล้านคน มาจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ ได้แก่ พม่า กัมพูชา และ สปป.ลาว ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้จดทะเบียนแรงงานและผู้ติดตามอย่างถูกกฎหมายเป็นจำนวนประมาณ 1.5 ล้านคน และเป็น ผู้ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับภาครัฐ จำนวนมากกว่า 1 ล้านคน (ข้อมูลเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559) 2) ชาวอาเซียนส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน อายุ 20 ปีขึ้นไป ทั้งเพศชายและเพศหญิง แยกเป็นชาวอาเซียนต่างๆ คือ พม่า กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ ชนกลุ่มน้อย/ชนเผ่าต่าง ๆ ได้แก่ กระเหรี่ยง ปะโอ ตองสู้/ยะไข่ กะฉิ่น มอญ และไทยใหญ่ ประเภทการทำงาน ได้แก่ รับจ้างทั่วไป คัดแยกขยะ ลูกจ้างแพปลา แม่บ้าน/ทำงานบ้าน คนสวน พนักงานโรงงานอุตสาหกรรม พนักงานเสิร์ฟอาหาร กรรมกร/ก่อสร้าง และค้าขาย 3) กลุ่มเป้าหมายชุมชนส่วนใหญ่มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผลกระทบจากประชาคมอาเซียน เช่น การเตรียมการด้านข้อมูลประชากร การเตรียมพร้อมด้านภาษาและสาธารณสุข เป็นต้น 4) การเป็นประชาคมอาเซียนไม่ส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงและการดำเนินชีวิตของคนไทยในชุมชน รวมถึงไม่ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มจำนวนชาวอาเซียน และระยะเวลาที่ชาวอาเซียน เข้ามาทำงานหรือพักอาศัย เนื่องจากชาวอาเซียนเข้ามาก่อนที่จะมีการเปิดประชาคมอาเซียน 5) การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมีผลในเชิงความรู้สึกว่าเมื่อเป็นประชาคมแล้วก็จะสามารถไปมาหาสู่กันได้สะดวกมากขึ้น เศรษฐกิจการค้าจะเติบโตขึ้นและจะมีการจ้างแรงงานมากขึ้น และอาจจะมีชาวอาเซียนมากขึ้นจากความร่วมมือระหว่างประเทศต่อกัน 6) ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีชาวอาเซียนเพิ่มขึ้นคือการเปิดจดทะเบียนแรงงานชาวอาเซียนเมื่อต้นปี 2559 ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า การเปิดจดทะเบียนแรงงานชาวอาเซียน คือกลไกหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยให้ความร่วมมือต่อการเป็นประชาคมอาเซียน 7) ชาวอาเซียนมีความรู้สึกพอใจที่ได้เข้ามาทำงานในประเทศไทยและเข้ามาพักอาศัยในชุมชน เพราะงานส่วนใหญ่ที่ชาวอาเซียนทำเป็นงานของผู้ใช้แรงงาน และเป็นงานที่คนไทยไม่ค่อยชอบทำกันแล้ว 8) ชุมชนของคนไทยที่มีชาวอาเซียนทำงานหรืออาศัยอยู่ในชุมชน พบว่าไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงและไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อคนในชุมชน เพราะส่วนใหญ่ชาวอาเซียนจะอยู่กันเป็นกลุ่ม (9) ปัญหาบางประการที่เกิดจากชาวอาเซียนเข้ามาพักอาศัยในชุมชน คือ การลักขโมยผลไม้จากต้นไม้ของชาวบ้านในชุมชน ความสกปรกของชุมชนที่มีมากขึ้น 1.2 ความครอบคลุมทางสังคม 1) คนไทยในชุมชนเป้าหมายส่วนใหญ่ ยอมรับว่ากลุ่มชาวอาเซียนที่ทำงานหรือพักอาศัยในชุมชนเป็นสมาชิกของชุมชน จากเหตุผล 5 ประการคือ ต้องใช้แรงงานจากชาวอาเซียน เพื่อความเป็นมนุษยธรรม เป็นวิถีชีวิตในกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำกิจกรรมร่วมกัน อาศัยอยู่ร่วมกันมาเป็นเวลานานจนเกิดความกลมกลืน และ ชาวอาเซียนส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจให้คนในชุมชน 2) บางพื้นที่ เช่น พื้นที่ สสว. 9 ถึงแม้ว่าคนในชุมชนจะยอมรับว่าชาวอาเซียนที่อยู่อาศัย ในชุมชนเป็นสมาชิกของชุมชน แต่ก็มีคนไทยบางส่วนไม่สามารถยอมรับได้ในพฤติกรรมของ ชาวอาเซียน และมองกลุ่มคนชาวอาเซียนเหล่านี้ว่าเป็นภาระของชุมชนด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาการทะเลาะวิวาท และ การก่ออาชญากรรม 3) ลักษณะความครอบคลุมทางสังคมในชุมชนที่มีชาวอาเซียนอาศัยอยู่ยังมีความไม่สมบูรณ์แบบ เนื่องจากยังขาดประเด็นการมีส่วนร่วมสาธารณะของชาวอาเซียนในชุมชน 1.3 ผลกระทบทางสังคมเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การวิจัยฉบับนี้ได้ประยุกต์ใช้องค์ประกอบความมั่นคงของมนุษย์ 12 มิติ ในปี พ.ศ. 2554 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) (2556: 4) ร่วมกับมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ (สำนักงานมาตรฐานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2556: 3) อย่างไรก็ตาม จากการสังเคราะห์ข้อมูลพบว่า ในองค์ประกอบ 12 มิติด้านความมั่นคงของมนุษย์ มีประเด็นผลกระทบทางสังคมที่มีนัยสำคัญ 5 มิติ ดังนี้ 1) มิติที่อยู่อาศัย พบว่า ทุกชุมชนเป้าหมายกำลังเผชิญกับปัญหาสุขอนามัยบริเวณที่พักอาศัยของชาวอาเซียน ที่ไม่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงการบุกรุกพื้นที่รกร้างของเอกชนและพื้นที่สาธารณะ 2) มิติด้านสุขภาพ พบว่า ชาวอาเซียนมีปัญหาด้านสุขอนามัย เช่น เรื่องโรคติดต่อที่เกิดจากการขาดการดูแลสุขอนามัยที่ดี ไม่สนใจในการป้องกันโรค 3) มิติด้านการมีงานทำและรายได้ พบว่า การที่ชาวอาเซียนเข้ามาทำงานหรือพักอาศัยในชุมชน ทำให้เศรษฐกิจของชุมชนส่วนใหญ่ดีขึ้น 4) มิติด้านศาสนาและวัฒนธรรม พบว่า ความแตกต่างด้านภาษาเป็นอุปสรรคสำคัญในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวอาเซียนกับคนไทยในชุมชน 5) มิติด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ประชากรกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่มองว่าการเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนของชาวอาเซียนก่อให้เกิดผลกระทบด้านจำนวนอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมที่รุนแรงหรือเล็กน้อย รวมถึงเรื่องความไม่ปลอดภัยบนท้องถนน

  2. มาตรการ กลไกเพื่อการคุ้มกันผลกระทบทางสังคมจากการอยู่ร่วมกันของชาวอาเซียนในประเทศไทย 2.1 เสริมสร้างกลไกเพื่อการสื่อสารระหว่างกันในชุมชน ภาครัฐควรส่งเสริมการอบรมภาษาไทยให้กับชาวอาเซียนหรืออาจกำหนดเป็นเงื่อนไขในการต่อใบอนุญาตทำงาน ในขณะเดียวกัน คนไทยในชุมชนที่มีชาวอาเซียนอาศัยอยู่ก็ควรได้รับการฝึกอบรมภาษาอาเซียนเพื่อให้สามารถสื่อสารระหว่างกันได้และเกิดความเข้าใจระหว่างกัน 2.2 พัฒนาระบบสุขอนามัยให้ชาวอาเซียน อาทิ การป้องกันโรค การรักษาโรค การดูแลสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัยให้ถูกสุขลักษณะ 2.3 พัฒนาความรู้ด้านวัฒนธรรมไทยและกฎหมายที่สำคัญ ชาวอาเซียนควรได้รับการอบรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย มารยาทไทย และการประพฤติปฏิบัติตนที่เหมาะสมสอดคล้องกับสังคมไทย รวมถึงสิ่งที่ทำได้และห้ามทำในสังคมไทย และภาครัฐควรส่งเสริมการพัฒนาทักษะความรู้ด้านกฎหมายที่จำเป็นแก่ชาวอาเซียน เช่น กฎหมายจราจร เป็นต้น 2.4 จัดทำฐานข้อมูลชาวอาเซียนในชุมชน เพื่อควบคุม ดูแลความปลอดภัยในชุมชนและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสวัสดิการชาวอาเซียน 2.5 ส่งเสริมความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างคนไทยและชาวอาเซียนในชุมชน เพื่อสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เช่น การจัดเวทีการประชุมเสวนาเพื่อแสดงความคิดเห็นร่วมกัน กิจกรรมร่วมกันด้านกีฬา ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น 2.6 สนับสนุนการจัดระเบียบด้านที่อยู่อาศัยในชุมชนที่มีชาวอาเซียนอาศัยอยู่ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในชุมชนและสุขอนามัยที่ถูกต้องในที่อยู่อาศัยของชาวอาเซียน

  3. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและมาตรการต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 3.1 ควรมีมาตรการในการรณรงค์ด้านการส่งเสริมสุขอนามัยที่ถูกต้อง ในที่อยู่อาศัยของชาวอาเซียน โดยการประสานงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขจัดการเสริมสร้างมาตรการพัฒนาระบบสุขอนามัยให้ชาวอาเซียน อาทิ การป้องกันโรค การรักษาโรค การดูแลสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัยให้ถูกสุขลักษณะ จัดระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อในกลุ่มชาวอาเซียน และจัดบริการวางแผนครอบครัว ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และส่งเสริมด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในจังหวัดชายแดนและจังหวัดชั้นในที่มีชาวอาเซียนอาศัยอยู่อย่างชัดเจน 3.2 ควรดำเนินการเชิงบูรณาการ ร่วมกับกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดทำฐานข้อมูลชาวอาเซียนและผู้ติดตามที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ในชุมชนทั่วประเทศ มาจดทะเบียน ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแบบเบ็ดเสร็จ (OSS: One Stop Service) นอกจากนั้นแล้วข้อมูลเหล่านี้ควรได้รับการแจ้งไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และชุมชนต่าง ๆ ที่มีชาวอาเซียนอาศัยอยู่ เพื่อประโยชน์ด้านการควบคุม ติดตามและช่วยเหลือในด้าน ต่าง ๆ แก่ชาวอาเซียน ในขณะเดียวกันหากมีกรณีการย้ายเข้า-ออก หรือปัญหา อื่น ๆ เช่น อาชญากรรม โรคติดต่อ ความรุนแรงในครอบครัว การค้ามนุษย์ เป็นต้น อปท. และผู้นำชุมชนจะได้รายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างทันท่วงที 3.3 ควรมีนโยบายให้หน่วยงาน พม. ร่วมกับอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (อพม.) พัฒนาเครือข่ายร่วมกับชาวอาเซียนในพื้นที่ และ ให้มีการประสานงานเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างเครือข่ายชาวอาเซียนในพื้นที่กับเครือข่ายคนไทยในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ในการดูแล ส่งเสริมและพัฒนาสวัสดิการสังคมแก่ชาวอาเซียน และเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ระหว่างชาวอาเซียนและคนไทยในชุมชน รวมถึงการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน และในภาวะฉุกเฉิน 3.4 ควรมีนโยบายให้อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (อพม.) รณรงค์เสริมสร้างเจตคติที่ดี และความเข้าใจระหว่างกันของคนไทยและชาวอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สามารถจัดกิจกรรมผ่านการมีส่วนร่วมในขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมในท้องถิ่น เช่น การจัดงานประเพณีลอยกระทง หรือการจัดงานประเพณีประกวดชุดแต่งกายประจำท้องถิ่น รวมถึงการจัดงานประเพณีแข่งขันด้านทักษะต่าง ๆ ที่สามารถเข้าร่วมได้ทุกเพศทุกวัย ภายใต้กติกาของความสมเหตุสมผล 3.5 ควรมีนโยบายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ดำเนินการเสริมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งในชุมชนที่มีชาวอาเซียนอาศัยหรือทำงานอยู่ ในรูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับนโยบาย เพื่อให้ส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคมในชุมชนและการมีชุมชนเข้มแข็ง อันจะนำไปสู่สัมพันธไมตรีที่ดีระหว่างคนไทยกับชาวอาเซียนในการยอมรับทางสังคมก่อเกิดซึ่งความไว้วางใจซึ่งกันและกัน 3.6 ควรมีนโยบายให้การเคหะแห่งชาติพัฒนาที่อยู่อาศัยเฉพาะเพื่อให้ชาวอาเซียนได้เช่าอาศัยอยู่ โดยการจัดตั้งเป็น “ศูนย์เอื้ออาทร” เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลและศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับการจัด โซนนิ่งสำหรับชาวอาเซียน ทั้งยังให้บริการด้านต่าง ๆ กล่าวคือเป็นการนำผลการดำเนินงานมาพัฒนาต่อยอดไปสู่จังหวัดอื่น ๆ 3.7 ควรมีนโยบายให้หน่วยงาน พม. มีการดำเนินการเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัด เช่น แรงงานจังหวัด กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด สภาทนายความ วัฒนธรรมจังหวัดและมหาวิทยาลัย ในการส่งเสริมความรู้ด้านวัฒนธรรมไทยและกฎหมายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในประเทศไทยให้แก่ชาวอาเซียนในเขตพื้นที่นั้น ๆ เช่น กฎจราจร ประเพณีการประพฤติปฏิบัติที่ควรทำในสังคมไทยรวมถึงพฤติกรรมที่ทำได้และห้ามทำ/ ไม่สมควรทำในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างชาวอาเซียนและคนไทยในชุมชน สมควรที่จะมีให้ความรู้ด้านวัฒนธรรมชาวอาเซียนแก่คนไทยในชุมชนด้วย

Organizations :
สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
Metadata last updated :
November 1, 2022
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
Office of the National Economic and Social Development Council (NESDC)
เลขที่ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
โทร : 0-2280-4085 ต่อ 6221-6241
โทรสาร : 02-280-6384, 02-628-2858
E-mail : open-d@nesdc.go.th
All rights reserved 2016 - NESDC. Powered By NECTEC.