PDF การศึกษาแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเพื่อพ ...

URL: https://opendata.nesdc.go.th/dataset/5a275b97-7a8e-47e9-ad59-6b7ec43f7072/resource/13f3c727-6a25-447f-93a5-28f72e6a64c3/download/.-8.-2019-covid-19.pdf

การจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีลักษณะเป็นการจัดการเรียนรู้ที่มีความหลากหลายและยืดหยุ่นตามบริบทของผู้เรียนในแต่ละสถานศึกษา การจัดการเรียนรู้ควรเป็นไปในลักษณะของการบูรณาการ เชื่อมโยงความคิดรวบยอดกับวิถีชีวิตของผู้เรียน ผู้สอนมีบทบาทในการกระตุ้นให้ผู้เรียนมีเป้าหมาย ในการเรียนรู้ มีวินัยในการเรียนรู้ ติดตาม ช่วยเหลือให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างเต็มตามศักยภาพ นอกจากนี้ผู้สอนควรมีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้ตอบสนองธรรมชาติ ความพร้อม และความต้องการของผู้เรียน ตลอดจนความพร้อมของครอบครัวของผู้เรียน ผู้เรียนใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยความกระตือรือร้น ควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนและผู้สอนผ่านช่องทางที่เหมาะสม สำหรับการใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ควรใช้ให้สอดคล้องกับระดับความสามารถของผู้เรียน ให้ผู้เรียนได้เลือกตามความพร้อมของแต่ละคน เพื่อให้สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมกัน สำหรับการวัดและประเมินผลนั้น ควรเป็นการวัดและประเมินเพื่อการพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญโดยใช้วิธีการและเครื่องมือที่หลากหลายและยืดหยุ่น ไม่เน้นการทดสอบแบบดั้งเดิม ผู้สอนมีการให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เรียนด้วยวิธีการและช่องทางที่เหมาะสม แนวทางการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สามารถจัดได้ 4 ลักษณะ ดังนี้ 1) ระดับประถมศึกษาแบบเรียนรู้ที่โรงเรียน เน้นให้ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายที่ทำให้เกิดความคิดรวบยอด ผู้สอนมีบทบาทการโค้ชให้ผู้เรียนใช้กระบวนการคิดและกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง ใช้สื่อการเรียนรู้ส่วนบุคคลที่สร้างความเข้าใจได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว ประเมินผู้เรียนรายบุคคลตามสภาพจริงและสื่อสารผลการประเมินไปยังผู้ปกครอง 2) ระดับประถมศึกษาแบบเรียนรู้ที่บ้าน เน้นการบูรณาการความคิดรวบยอดให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิตประจำวันของผู้เรียน บทบาทผู้สอนเป็นผู้ติดตามให้คำปรึกษา ให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือ สร้างความร่วมมือกับผู้ปกครอง ใช้สื่อที่ผู้เรียนเข้าถึงได้ตามระดับความสามารถและปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ 3) ระดับมัธยมศึกษาแบบเรียนรู้ที่โรงเรียน เน้นการเชื่อมโยงกิจกรรมการเรียนรู้ที่โรงเรียนและที่บ้านในลักษณะการเรียนรู้ส่วนบุคคล ผู้สอนโค้ชผู้เรียนให้มีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และใช้วิธีการเรียนรู้ของตนเอง ใช้สื่อและแหล่งการเรียนรู้ที่สร้างความเข้าใจอย่างถูกต้องรวดเร็ว หลีกเลี่ยงการให้ผู้เรียนใช้สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ร่วมกัน มุ่งพัฒนาความคิดรวบยอด ประเมินตามสภาพจริงด้วยวิธีการที่หลากหลาย และยืดหยุ่น ให้ข้อมูลย้อนกลับและซ่อมเสริมอย่างรวดเร็ว 4) ระดับมัธยมศึกษาแบบเรียนรู้ที่บ้าน เน้นบูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้ที่ท้าทายความคิดและความสามารถให้ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียน ผู้สอนร่วมเรียนรู้ (Co-learning) ไปกับผู้เรียน และโค้ชผู้เรียนให้ใช้กระบวนการเรียนรู้อย่างหลากหลาย ใช้สื่อและแหล่งการเรียนรู้ที่สร้างความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว ประหยัด โดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้เรียน ประเมินตามสภาพจริงด้วยวิธีการที่หลากหลายและยืดหยุ่น ให้ความสำคัญกับการประเมินกระบวนการคิดและกระบวนการเรียนรู้

Open in new tab Embed

Your browser does not support object tags.

Additional Information

Data last updated December 30, 2021
Format PDF
File Size (ไบต์) 23204889