Text Size Languages
ความต้องการการจัดสวัสดิการทางสังคมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ความต้องการการจัดสวัสดิการทางสังคมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

การศึกษาวิจัยเรื่อง “ความต้องการการจัดสวัสดิการทางสังคมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาความต้องการการจัดสวัสดิการทางสังคมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความต้องการการจัดสวัสดิการทางสังคมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยทำการศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเขตการดูแลรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 5 จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย จังหวัดเลย และจังหวัดหนองบัวลำภู โดยใช้ระเบียบวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้มีหน่วยวิเคราะห์ (Unit of Analysis) เป็นหน่วยระดับปัจเจกบุคคล (Individual Unit) ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ให้ข้อมูลวิจัย 2 ประเภท ได้แก่ ผู้ตอบแบบสอบถามคือ ผู้สูงอายุ จำนวนทั้งสิน 400 คน ที่อาศัยอยู่ ในพื้นที่ 7 จังหวัด ในเขตรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 5 และผู้ให้ข้อมูลสัมภาษณ์ คือ เจ้าหน้าที่รัฐสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ระดับบริหาร) จำนวน 3 คน, ผู้สูงอายุ (ตัวแทนประธานกลุ่มผู้สูงอายุ) จำนวน 1 คน, และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ จำนวน 9 คน ผู้ให้ข้อมูลทั้งหมดเป็นผู้ที่เข้าใจและสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกซึ่งสะท้อนบริบทและสถานการณ์ผู้สูงอายุเผชิญอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งในเขตเมืองและชนบทได้เป็นอย่างดี ผลการศึกษาเชิงปริมาณ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็น ร้อยละ 65 ส่วนใหญ่มีอายุต่ำกว่า 68 ปี คิดเป็นร้อยละ 34.5 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา คิดเป็น ร้อยละ 43.3 มีสถานภาพสมรส คิดเป็นร้อยละ 44.5 มีจำนวนสมาชิกในครอบครัว 4 คน จำนวน 98 คน ไม่มีโรคประจำตัวจำนวน 230 คน คิดเป็นร้อยละ 57.5ไม่มีความพิการ จำนวน 369 คน คิดเป็นร้อยละ 92.3 ไม่ได้ประกอบอาชีพ จำนวน 212 คน คิดเป็นร้อยละ 53.0 มีรายรับต่อเดือนของตนเองน้อยกว่า 1,500 บาท จำนวน 151 คน คิดเป็นร้อยละ 37.8มีแหล่งที่มาของรายรับส่วนใหญ่มาจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จำนวน 330 คน คิดเป็นร้อยละ 34.3 จำนวนหนี้สินของตนเองมากกว่า 46,564 บาท จำนวน 324 คน คิดเป็นร้อยละ 81.0 มีหนี้สินของครอบครัวมากกว่า 78,261 บาท จำนวน 283 คน คิดเป็นร้อยละ 70.8 ส่วนใหญ่ไม่มีหนี้สินจำนวน 198 คน คิดเป็นร้อยละ 49.5 ผู้ตอบแบบสอบถามอาศัยอาศัยอยู่จังหวัดขอนแก่นมากที่สุด ไม่ได้เป็นสมาชิกในชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ หรือกลุ่มกิจกรรมทางสังคมอื่น จำนวน 230 คน คิดเป็นร้อยละ 57.5 มีผู้ดูแล จำนวน 291 คน คิดเป็นร้อยละ 72.8 และใช้เวลาในการใช้อุปกรณ์สื่อสาร/อินเตอร์เน็ต ส่วนใหญ่อยู่ที่ 2.65 - 40 นาที จำนวน 147 คน คิดเป็นร้อยละ 36.8 ในภาพรวมมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุอยู่ในระดับน้อย โดยระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ มีลักษณะพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุในภาพรวมอยู่ในระดับต่ำ โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.64 และเมื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิผลต่อความต้องการการจัดสวัสดิการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ มี 3 ปัจจัยที่มีผลต่อความต้องการของผู้สูงอายุโดดเด่นที่สุดเรียงไปตามลำดับ ได้แก่ ทักษะและประสบการณ์ในอดีต (มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับตัวแปรตามในระดับ 0.349) รองมาคือ ความสามารถในการพึ่งพาตนเอง (เท่ากับ 0.182) และตามด้วยการเข้าถึง (เท่ากับ 0.117) ผลการศึกษาเชิงคุณภาพ พบว่า ทักษะและประสบการณ์ในอดีตมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้สูงอายุในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถประยุกต์ใช้หรือสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว เมื่อใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่หรือนวัตกรรมชิ้นใหม่ก็จะใช้เวลาปรับตัวไม่นาน ความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ถือเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดความต้องการสวัสดิการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของผู้สูงอายุในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ผู้สูงอายุจะยอมรับในสวัสดิการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันหนึ่งอันใด ก็ต่อเมื่อผู้สูงอายุสามารถ “สามารถทำได้ด้วยตนเอง” โดยไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่นหรือตัวท่านเองหากผู้สูงอายุในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ โครงข่ายอินเตอร์เน็ต และองค์ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้น จะเป็นสิ่งที่สามารถช่วยยกระดับความต้องการสวัสดิการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และที่สำคัญปัจจัยการเข้าถึงยังเชื่อมโยงกับปัจจัยทั้งสองตัวที่กล่าวมา และสำคัญไปยิ่งกว่า ผลการสัมภาษณ์สะท้อนให้เห็นว่า ภูมิลำเนาหรือแหล่งที่อยู่ของผู้สูงอายุ (เขตเทศบาลหรือนอกเขตเทศบาล) เป็นเงื่อนไขสำคัญที่กำหนดการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญอีกด้วย ผู้ให้ข้อมูลสัมภาษณ์ได้ให้ข้อมูลน่าสนใจเพิ่มเติมไปจากผลการวิเคราะห์เชิงปริมาณ เกี่ยวกับปัจจัยอีกตัวหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อศักยภาพและความพร้อมของผู้สูงอายุ คือ การสนับสนุนทั้งทางสังคมและทางเทคนิคของคนรอบข้าง “คนในครอบครัว” “ลูก-หลาน” “เพื่อน” “ผู้นำ(ชุมชน)” และ “อาสาสมัครชุมชน” เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงอุปกรณ์ ข้อมูล และทักษะที่จำเป็นในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ คนเหล่านี้ถือเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับกลุ่มผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือและส่งต่อข้อมูลด้านสวัสดิการทางเทคโนโลยีที่จะเป็นประโยชน์แก่กลุ่มผู้สูงอายุได้รับรู้และสามารถพึ่งพาตนเองได้
จากผลการวิจัย สะท้อนให้เห็นว่าผู้สูงอายุกำลังเผชิญความท้าทายในสังคมที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและเข้ามามีบทบาทในการดำเนินในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เมื่อวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งลงไปในข้อมูลวิจัยที่สะท้อนอุปสรรคปัญหาที่เป็นตัวขวางกั้นระหว่างผู้สูงอายุและเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายเพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีที่สูงเกินไป หรือจุดให้บริการโครงข่ายอินเตอร์เน็ตไม่ครอบคลุม หรือการขาดความรู้ ความสามารถหรือโอกาสที่จะได้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทันสมัยเพื่อสร้างความคุ้นเคยและประสบการณ์ให้แก่ผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งความกลัวที่จะทำธุรกรรมออนไลน์ ดังนั้นการศึกษาทำความเข้าใจในความต้องการของผู้สูงอายุ จึงเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญเพื่อให้ได้ข้อมูลนำเข้าและปัญหาที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อภาครัฐจะสามารถนำไปใช้ออกแบบเครื่องมือทางนโยบายเพื่อจัดสวัสดิการสังคมและความช่วยเหลือที่เหมาะสมและตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุให้ได้มากที่สุด จากผลการศึกษา จะเห็นว่า ผู้สูงอายุยังต้องการให้มีการจัดสรรทั้งอุปกรณ์ เช่น สมาร์ทโฟน อินเตอร์เน็ต พร้อมกับการจัดอบรมให้องค์ความรู้และข้อมูลจำเป็นต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การจัดสรรสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคมและบริการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งที่เป็นตัวเงินงบ และที่ไม่เป็นตัวเงิน ดังนั้น ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดสวัสดิการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาครัฐอาจต้องใช้แนวทางการจัดการปกครองแบบเครือข่าย (Governance Approach) โดยดึงเครือข่ายหลายภาคส่วนที่มีความถนัดและทรัพยากรที่แตกต่างกันเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน จึงจะสามารถยกระดับศักยภาพของผู้สูงอายุให้สูงขึ้นได้ เครือข่ายสำคัญ ประกอบด้วย ครอบครัว เอกชน ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการจัดสรรสวัสดิการสังคมและบริการให้เหมาะกับลักษณะความต้องการตามระดับศักยภาพและความพร้อมของผู้สูงอายุในเขตเมืองและชนบท เช่น การอุดหนุนเงินจากภาครัฐสำหรับการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ซึ่งไม่เพียงเกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนที่ให้บริการโครงข่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ต แต่ยังต้องได้รับความร่วมมือจากบุคคลรอบข้างผู้สูงอายุที่มีส่วนสำคัญในการเพิ่มความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารสำหรับผู้สูงอายุร่วมกับการจัดอบรมของภาครัฐ อุปกรณ์อัจฉริยะทางด้านการแพทย์และเครื่องไฟฟ้าเพื่อการดูแลผู้สูงอายุก็เช่นกัน หากเครื่องมีราคาสูง ภาครัฐต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากภาคเอกชนมากขึ้น เพราะในปัจจุบัน รัฐยังคงไม่มีงบประมาณมากพอที่จะจัดสรรด้วยตนเอง รัฐจัดสรรได้เพียงอุปกรณ์พื้นฐานเท่านั้น ซึ่งก็ยังคงมีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้สูงอายุอยู่ เช่น ไม้เท้า เครื่องช่วยฟัง และรถเข็น เป็นต้น การพัฒนาต่อยอดจากกลไกและเครือข่ายความร่วมมือดั้งเดิมในระดับชุมชน ก็อาจเป็นแนวทางการจัดสวัสดิการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุที่เหมาะสมในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลนี้ได้ เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนในตำบล อาจใช้เป็นฐานในการพัฒนาเป็นระบบเพื่อการส่งเสริมสวัสดิการสังคมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่ผู้สูงอายุ โดยเน้นให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุนให้เหมาะสมกับความจำเป็นความต้องการที่แตกต่างกันตามถิ่นที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุเอง เราจะเห็นได้ว่า กองทุนนี้เป็นการสร้างหลักประกันให้ผู้สูงอายุตามรูปแบบระบบจ่ายเงินสมทบ (Contributory) ที่ผู้สูงอายุจ่ายเงินสมทบส่วนหนึ่ง และภาครัฐ รวมทั้งภาคส่วนอื่น ๆ เช่น ภาคเอกชน สามารถร่วมสบทบเพิ่มเติมส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการสนับสนุนและสร้างความยั่งยืนให้แก่กองทุน ในการจัดสวัสดิการสังคมในรูปแบบนี้ รัฐไม่จำเป็นต้องจัดฝ่ายเดียวและมุ่งเน้นหลักการ "สวัสดิการการให้อย่างมีคุณค่า และรับอย่างมีศักดิ์ศรี"

คำสำคัญ ผู้สูงอายุ, สวัสดิการทางสังคม, เทคโนโลยีและนวัตกรรม

Организации :
สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
Последно ажурирани мета податоци :
Октомври 4, 2023
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
Office of the National Economic and Social Development Council (NESDC)
เลขที่ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
โทร : 0-2280-4085 ต่อ 6221-6241
โทรสาร : 02-280-6384, 02-628-2858
E-mail : open-d@nesdc.go.th
All rights reserved 2016 - NESDC. Powered By NECTEC.