แนวคิดเรื่องการฟื้นตัวทางการศึกษาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพและเสมอภาคเป็นแนวทางที่หลายประเทศให้ความสนใจ ในการศึกษาวิจัยและประกอบการพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาที่ส่งผลถึงภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loses) ความเครียดและปัญหาทางสุขภาพจิต ภาวะขาดโภชนาการ และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทักษะทางสังคมของผู้เรียน ที่เกิดขึ้นจากการปิดโรงเรียนที่ไม่มีกำหนด และส่งผลระยะยาวต่อการพัฒนามนุษย์และความเป็นอยู่ที่ดี (Well – Being) ของผู้เรียน
แม้ช่วงสถานการณ์ COVID-19 จะทำให้เห็นศักยภาพและประโยชน์ของนำนวัตกรรมในการเรียนรู้ และการจัดการเรียนรู้ทางไกลหรือออนไลน์มาใช้อย่างมากมายและรวดเร็ว แต่การจัดการเรียนรู้ทางไกลหรือออนไลน์ในวิกฤติการระบาด COVID-19 ไม่สามารถทดแทนการเรียนรู้แบบเผชิญหน้าหรือแบบตัวต่อตัวได้ทั้งหมด การหยุดชะงักของระบบการศึกษาที่ผ่านมาทำให้เกิดความสูญเสียและความไม่เท่าเทียมกันในการเรียนรู้อย่างมาก ดังนั้นแนวทางการฟื้นตัวทางการศึกษาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพและเสมอภาค จึงมิใช่เพียงเป็นการดำเนินการภายหลังสถานการณ์ COVID-19 ผ่านพ้นไปเท่านั้น หากแต่จะต้องมีการศึกษา พัฒนา และดำเนินการไปตลอดช่วงเวลา ทั้งในสถานการณ์และภายหลังการระบาดไปอย่างต่อเนื่อง
ข้อเสนอแนวทางการฟื้นตัวทางการศึกษาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพและเสมอภาค ของประเทศไทย ดังนี้ 1) เปิดภาคเรียนเพื่อให้การเรียนรู้เกิดความต่อเนื่อง ภายใต้เงื่อนไข ได้แก่ มีการกำหนด Zoning พื้นที่ กำหนดมาตรการด้านสุขภาพ (SOPs) ขั้นสูงสุดและปฏิบัติจริง (รวมทั้งมีการจัดหาวัคซีนที่เพียงพอสำหรับครูและผู้เรียน) จัดหาและแจกอุปกรณ์ที่จำเป็นด้านสาธารณสุขสำหรับผู้เรียน ครู และบุคลากรในการศึกษา โดยแต่ละพื้นที่มีการกำหนดสัดส่วนการจัดการเรียนรู้ 5 รูปแบบ (On-site /On-air /On-demand / On-line /On-hand) และ Hybrid และแนวทางการวัดประเมินผลที่ชัดเจนและเหมาะสมกับบริบท ในขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการก็จะต้องมีการหารือในเรื่องการแก้ปัญหาการทดสอบระดับชาติต่างๆ ควบคู่ไปด้วย ปรับและลดขนาดหลักสูตร และเป้าหมายที่พึงประสงค์ของหลักสูตรให้เหลือเป็นเท่าที่จำเป็น มีการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง (ใช้วิกฤตเป็นสาระที่ทุกคนเรียนรู้) และใช้กิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะในการดำรงชีวิตและการทำงานของผู้เรียนในอนาคต (Essential Future Skills) ตลอดจนมีการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษา/แนะแนว และศูนย์ประสานงานกลาง ทั้งที่เป็นปัญหาด้านสุขภาพ ภาวะขาดโภชนาการ สุขภาพจิต ปัญหาครอบครัว อารมณ์ สังคมที่กระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้เรียน การขาดอุปกรณ์ในการเรียนรู้ ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับครู และความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนทางไกล /ออนไลน์ เป็นต้น 2) จัดเตรียมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Digital / Online Learning Infrastructure) เพื่อการเรียนรู้ทางไกลให้เพียงพอ เข้าถึงได้และมีประสิทธิภาพ 3) จัดทำแพลตฟอร์ม (Learning Platform) การเรียนรู้ที่ผู้เรียน ครู ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สามารถเข้าถึงเพื่อการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะและตอบสนองความต้องการทางสังคมและอารมณ์ที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มให้เข้าถึงได้จริง มีการพัฒนาต่อเนื่อง และหลากหลาย 4) สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างทางเลือกในการเรียนรู้ และการประเมินผล (Mentor / Credit Bank System) ที่สามารถทำได้ทันที และเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคต 5) สร้างและพัฒนาระบบการประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment) เปลี่ยนจากการทดสอบแบบดั้งเดิมที่อาศัยการตอบแบบเลือกตอบ ถูก/ผิด และการใช้คำถามปลายเปิดเพียงเพื่อตอบคำถามที่กำหนด ไปสู่การประเมินตามสภาพจริง เน้นการวัดว่านักเรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงได้อย่างไร ด้วยการใช้การประเมินการเรียนรู้ (Assessments of Learning) และการประเมินเพื่อการเรียนรู้ (Assessments for Learning) ร่วมกัน
โดยควรมีการตั้งคณะทำงานหรือคณะผู้รับผิดชอบโดยตรง ในการนำข้อเสนอแนวทางการฟื้นตัวทางการศึกษาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพและเสมอภาคข้างต้นไปศึกษาและจัดทำเป็นข้อเสนอแนวทางการฟื้นตัวทางการศึกษาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพและเสมอภาคของประเทศไทย ในลักษณะของนโยบายหรือแผนระยะสั้น - กลาง - ยาว ที่เป็นรูปธรรมต่อไป
No issues