การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก มีสาเหตุสำคัญที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยขาดการควบคุมให้อยู่ในสภาพสมดุลตามธรรมชาติเดิม ทำให้เกิดผลกระทบมากมาย จนเกิดเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่เรียกว่า “อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (United Nation Framework convention on Climate Change : UNFCCC) มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งการดำเนินการสำรวจจะต้องศึกษาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของทั่วทุกภาคในประเทศไทย จึงเป็นการศึกษาการกักเก็บคาร์บอนในป่าต้นน้ำของอีสานตอนใต้ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นแหล่งกักเก็บและปลดปล่อยน้ำสู่ลำธาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการดำเนินการเรื่องเรดด์พลัส และวางแผนเพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บคาร์บอนและฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรมต่อไป ดำเนินการศึกษาโดยการสำรวจพื้นที่ป่าเพื่อจำแนกชนิดป่าออกเป็นป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง จำแนกระดับของหมู่ไม้ในแต่ละประเภทป่าจากภาพถ่ายทางอากาศออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ หมู่ไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก หมู่ไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง และหมู่ไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์น้อย ระดับละ 3 แปลง จากนั้นคัดเลือกพื้นที่วางแปลงตัวอย่างถาวร ขนาด 40x40 ตารางเมตร หรือ 1 ไร่ ในป่าทุกประเภท พร้อมทั้งเก็บข้อมูลการเจริญเติบโตของต้นไม้ เถาวัลย์ ไผ่ รวมถึงชิ้นตัวอย่างไม้ตาย และเก็บข้อมูลลักษณะโครงสร้างสังคมพืชและความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืช วางกระบะสำหรับรองรับซากพืชที่ร่วงหล่นในแต่ละเดือน แปลงตัวอย่างละ 5 กระบะ จากผลการศึกษาพบว่า สำรวจลักษณะสังคมพืชและประเมินคาร์บอนเหนือพื้นดินในป่าดิบแล้ง อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จากการวางแปลงตัวอย่างขนาด 40x40 ตารางเมตร ในพื้นที่พบว่าชนิดป่าของพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้มมีค่าการกักเก็บคาร์บอนมากที่สุด คือ ป่าดิบแล้ง 1,348,924.949 ตันคาร์บอนต่อเฮกต้าร์ (tc/ha) รองลงมา คือ ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ซึ่งมีค่าการกักเก็บคาร์บอน เท่ากับ 1,120,921.700 tc/ha และ 485,376.302 tc/ha ตามลำดับ