Text Size Languages
โครงการพัฒนาระบบและกลไกศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) เสริมสร้างครอบครัวเข้มแข็ง มีจิตสำนึกความเป็นไทย และดำรงชีวิตแบบพอเพียง ระยะที่ 2
โครงการพัฒนาระบบและกลไกศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) เสริมสร้างครอบครัวเข้มแข็ง มีจิตสำนึกความเป็นไทย และดำรงชีวิตแบบพอเพียง ระยะที่ 2

โครงการพัฒนาระบบและกลไกศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) เสริมสร้างครอบครัวเข้มแข็ง มีจิตสำนึกความเป็นไทย และดำรงชีวิตแบบพอเพียง ระยะที่ 2 โครงการย่อยที่ 1 การพัฒนานวัตกรรมการเฝ้าระวังสถานการณ์ครอบครัว เชิงพื้นที่โดยชุมชน ระยะที่ 2 บทคัดย่อ รายงานวิจัย เรื่อง โครงการพัฒนาระบบและกลไกศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) เสริมสร้างครอบครัวเข้มแข็ง มีจิตสำนึกความเป็นไทย และดำรงชีวิตแบบพอเพียง ระยะที่ 2 : โครงการย่อยที่ 1 โครงการพัฒนานวัตกรรมการเฝ้าระวังสถานการณ์ครอบครัวเชิงพื้นที่โดยชุมชน ระยะที่ 2 นี้ เป็นการวิจัยและพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาองค์ความรู้และพัฒนาระบบและกลไกการเสริมสร้างครอบครัวเข้มแข็ง และ 2) พัฒนาระบบเฝ้าระวังสถานการณ์ครอบครัวเชิงพื้นที่โดยชุมชน ผลการศึกษาได้ข้อสรุปองค์ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันครอบครัวที่ควรเฝ้าระวัง ซึ่งเป็นข้อมูลนำเข้า (Input) ระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยสถานการณ์ครอบครัวในชุมชน คือ 1) ร้อยละของครอบครัวเปราะบาง 2) สถานการณ์ปัญหาครอบครัว สถานการณ์ปัญหาสังคมในชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ ปัญหาความสัมพันธ์สามี/ภรรยา ปัญหาในเด็ก/เยาวชน ปัญหาของผู้สูงอายุ ปัญหาภายในครอบครัว/สมาชิกในครอบครัว และปัญหาเพื่อนบ้าน/คนในชุมชน รวมจำนวน 40 ข้อ 3) สถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ มลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง ปัญหามลพิษที่เกิดจากขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล และภัยธรรมชาติ จำนวน 5 ข้อ 4) สถานการณ์การมีแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ในพื้นที่ ได้แก่ แหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติ แหล่งเรียนรู้ทางศาสนา แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิต แหล่งเรียนรู้เพื่อการศึกษาและรื่นรมย์ของประชาชน จำนวน 25 ข้อ ทั้งนี้ งานวิจัยได้พัฒนาประเด็นคำถาม พร้อมจัดทำเป็นข้อคำถามสั้น ๆ โดยสาระสำคัญยังคงอยู่อย่างครบถ้วน สำหรับผลการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System : GIS) และระบบงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการจัดทำในรูปแบบ 1) เว็บแอปพลิเคชัน 2) ระบบการจัดเก็บแบบสำรวจออนไลน์ และ 3) ระบบฐานข้อมูลรองรับข้อมูลแบบสำรวจออนไลน์ ภายใต้โดเมน www.family-warning.dwf.go.th โดยระบบที่พัฒนาขึ้น สามารถใช้งานแอปพลิเคชันสำหรับอุปกรณ์พกพา (Mobile Device) เช่น เครื่องโทรศัพท์มือถือ (Smart Phone) คอมพิวเตอร์พกพา (Tablet) และโปรแกรมเว็บบราวเซอร์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ โดยมีการแสดงผลในลักษณะ Responsive Design และสามารถใช้งานได้กับระบบปฏิบัติงาน IOS และ Android ทุกขนาดหน้าจอของอุปกรณ์พกพาได้ เมื่อมีการเปิดใช้ระบบจริง ทั้งนี้ กำหนดจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่ อปท. จำนวน 1 ชุดต่อปี โดย “ระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยสถานการณ์ครอบครัวในชุมชน” ที่พัฒนาขึ้นนี้ คาดว่าจะช่วยให้ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลสารสนเทศสนับสนุนการขับเคลื่อนภารกิจด้านครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลต่อไป คำสำคัญ : สถานการณ์ครอบครัว, ข้อมูลครอบครัว, สำรวจข้อมูล, ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน, ระบบเฝ้าระวัง, เตือนภัย, ปัจจัย, ผลกระทบ, เว็บแอปพลิเคชัน, นวัตกรรม. โครงการย่อยที่ 2 การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของกลไกเชิงพื้นที่ : การส่งเสริมการวิจัยชุมชนด้านครอบครัวและการพัฒนาครอบครัวเข้มแข็ง บทคัดย่อ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จัดทำโครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนาระบบและกลไกศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) เสริมสร้างครอบครัวเข้มแข็ง มีจิตสำนึกความเป็นไทย และดำรงชีวิตแบบพอเพียง โครงการย่อยที่ 2 การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของกลไกเชิงพื้นที่ : การส่งเสริมการวิจัยชุมชน ด้านครอบครัวและพัฒนาครอบครัวเข้มแข็งนี้ขึ้น วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบและกระบวนการเสริมสร้างครอบครัวเข้มแข็ง โดยการศึกษารูปแบบ/แนวทางการพัฒนาศักยภาพกลไก ศพค. ให้สามารถขับเคลื่อนงาน เพื่อการเสริมสร้างครอบครัวเข้มแข็ง มีจิตสำนึกความเป็นไทย และดำรงชีวิตแบบพอเพียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) คณะทำงาน ศพค. และภาคประชาสังคม (NGOs) สำหรับระเบียบวิธีการวิจัยใช้แบบผสมผสาน (Mixed Methods Research) เริ่มจากการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของกลไกเชิงพื้นที่ ใช้เทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรม การสัมภาษณ์ แบบเจาะลึกรายบุคคล (In-depth Interview) การจัดสนทนากลุ่ม (Focus Group) การสังเกต (Observation) และความรู้ที่ฝังในตัวของคณะวิจัยชุมชน เพื่อทำการสังเคราะห์ข้อมูล เมื่อได้ข้อสรุปจากการวิจัยเชิงคุณภาพ จึงนำข้อสรุปที่ได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสอบถามความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom meeting) จำนวน 2 ครั้ง มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมประชุมฯ 91 คน จาก 54 จังหวัด หลังจากนั้น จึงใช้การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ด้วยเครื่องมือแบบสำรวจออนไลน์ (Google form) ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม – 25 สิงหาคม 2566 ว่าผู้เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ที่ได้ข้อสรุปจากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้หรือไม่เพียงใด ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องตอบแบบสำรวจจำนวน 488 ราย จาก 43 จังหวัด ทั้งนี้ เพื่อให้การศึกษามีความครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน ตามที่โครงการวิจัยกำหนด และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้ง 4 ภูมิภาค สรุปมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ รวมทั้งสิ้น 59 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 76.6 ของจังหวัด ทั่วประเทศ โดยจากผลการศึกษาวิจัย พบว่า สถานการณ์การทำงาน ศพค. ในพื้นที่ ยังคงมีความสอดคล้องกับรายงานผลการติดตามและประเมินผลโครงการ/กิจกรรม ศพค. ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ที่ยังคงสะท้อนข้อเท็จจริงเดิม ๆ ว่า กองส่งเสริมสถาบันครอบครัวผู้รับผิดชอบงาน ศพค. ยังคงกำหนดนโยบาย ทิศทาง และจุดยืนการขับเคลื่อนงาน ศพค. ไม่ชัดเจน ที่ผ่านมา ศพค. ยังไม่มีอัตลักษณ์อะไรที่โดดเด่น หรือมีศักยภาพใดที่แตกต่าง ปัจจุบันการทำงาน ศพค. มีความซ้ำซ้อนกับงานอาสาสมัครของหลายหน่วยงาน แต่งานอาสาสมัครอื่น ๆ เป็นที่ยอมรับ แตกต่างจากงาน ศพค. ที่ส่วนใหญ่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ และนับวันยิ่ง อ่อนแอลง ที่น่าห่วงใย คือ มี อปท. และ พมจ. จำนวนไม่น้อยที่มองว่างาน ศพค. เป็นภาระให้หน่วยงานในพื้นที่ และไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้การทำงาน ศพค. ไม่เข้มแข็ง เกิดจากการคิด และออกแบบการทำงานแบบสั่งการจากส่วนกลาง ที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดการทำงานกับเครือข่าย ขาดทักษะการวิเคราะห์ออกแบบงานอย่างเป็นระบบ ขาดการคำนึงถึงข้อจำกัด ขาดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งการออกแบบโครงการ/กิจกรรมไม่ได้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ กระบวนการ/ขั้นตอน การทำงานยุ่งยาก และมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานบ่อยครั้ง ยิ่งกว่านั้น รูปแบบการรายงานผล การดำเนินงานค่อนข้างยุ่งยาก และมีแบบรายงานหลายฉบับ สร้างภาระให้กับหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งการออกแบบการทำงาน ศพค. ที่เป็นอยู่ มิได้ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เกิดความเต็มใจร่วมมืออย่างยั่งยืน ที่สำคัญ กองส่งเสริมสถาบันครอบครัวมีความคาดหวังให้ ศพค. เป็นกลไกการขับเคลื่อนงานด้านครอบครัวในพื้นที่ แต่ที่ผ่านมา กลับให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพ ศพค. น้อยมาก ดังนั้น การวิจัยในครั้งนี้ จึงได้มุ่งศึกษาสถานการณ์การทำงานของ ศพค. ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เพื่อวิเคราะห์หาข้อสรุปเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคในการทำงานของ ศพค. ที่ไม่เข้มแข็ง และปัจจัยเกื้อหนุน การทำงานของ ศพค. ที่เข้มแข็ง รวมทั้งทำการศึกษาความต้องการหรือความคาดหวังของหน่วยงานและบุคคล ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์และหาข้อสรุปเกี่ยวกับรูปแบบ/แนวทางการพัฒนาศักยภาพ ศพค. ซึ่งจากผลการวิจัยได้ข้อสรุปว่า รูปแบบหรือแนวทางการพัฒนาศักยภาพศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนให้มี ความเข้มแข็ง ประกอบด้วย 1.การปรับแนวคิดและสร้างความเข้าใจว่า การทำงานกับเครือข่ายจำเป็นต้องให้ทุกฝ่ายเห็นประโยชน์ในการทำงานร่วมกัน เพื่อให้การทำงานเกิดความยั่งยืน 2.กำหนดจุดยืนและสร้างคุณค่าให้กับงาน ศพค. โดยเริ่มจากคณะทำงาน ศพค. ต้องประกอบด้วยประชาชนจิตอาสา/จิตสาธารณะ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการทำงานต้องมีทั้งการทำงานเชิงรุก (ป้องกัน) และการทำงานเชิงรับ (แก้ไข) ผสมผสานกัน เพื่อรองรับ การทำงานตามบริบทของแต่ละพื้นที่ 3.การออกแบบกระบวนงาน ต้องมีการวิเคราะห์ และออกแบบการทำงาน ให้เป็นระบบ ลดกระบวนการ/ขั้นตอนที่ไม่จำเป็น (หลักการพาเรโต หรือ กฎ 80/20) ที่สำคัญ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และ NGOs ต้องให้คำแนะนำ สนับสนุนการทำงาน และพัฒนาศักยภาพให้กับคณะทำงานที่เป็นประชาชนจิตอาสา/จิตสาธารณะอย่างเหมาะสม 4.การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง โดยจำแนกเป็น ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนต้นแบบ ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนเข้มแข็ง และศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ที่ไม่เข้มแข็ง โดยควรจัดทำ “หลักสูตรการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ศพค. ต้นแบบ” และ “หลักสูตรการส่งเสริมและพัฒนา ศพค. เข้มแข็ง” รวมทั้งรวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนการทำงานของ ศพค.อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ควรสนับสนุนงบประมาณให้สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นในการทำงานจริงของพื้นที่ และ 5.ควรใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการรายงาน ติดตาม และประเมินผลอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง คำสำคัญ : ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน, พัฒนาครอบครัว, ครอบครัวเข้มแข็ง, ครอบครัว, ท้องถิ่น, จิตอาสา, จิตสาธารณะ, อาสาสมัคร, ชุมชน.

Organizations :
กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
Metadata last updated :
May 8, 2024
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
Office of the National Economic and Social Development Council (NESDC)
เลขที่ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
โทร : 0-2280-4085 ต่อ 6221-6241
โทรสาร : 02-280-6384, 02-628-2858
E-mail : open-d@nesdc.go.th
All rights reserved 2016 - NESDC. Powered By NECTEC.