พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ในมาตรา 10 ได้บัญญัติถึงสิทธิและโอกาสของบุคคลในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐต้องจัดอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และมาตรา 17 ให้มีการศึกษาภาคบังคับ จำนวน 9 ปี โดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ด เข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับ หลักเกณฑ์และการนับอายุให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยระบบการศึกษาไทยกำหนดระยะเวลาของการจัดการศึกษาชั้นประถมศึกษา 6 ปี (6 ระดับชั้น) ผู้เรียนอายุประมาณ 6-11 ปี การศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี (3 ระดับชั้น) ผู้เรียนอายุประมาณ 12-14 ปี และการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี (3 ระดับชั้น) ผู้เรียนอายุประมาณ 15-17 ปี หรือเรียกว่า “ระบบ 6-3-3”ต่อมาวันที่ 15 มิ.ย. 2559 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา (อนุบาล) (ถ้ามี) ระดับประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) หรือเทียบเท่า และให้หมายความรวมถึงการศึกษาพิเศษและการศึกษาสงเคราะห์ ซึ่งในปีการศึกษา 2563 สามารถสรุปสารสนเทศทางการศึกษาได้ดังนี้ 1. การเข้าถึงการจัดการศึกษาของประเทศไทย ปีการศึกษา 2563 จากข้อมูลที่รวบรวมจากหน่วยงานที่จัดการศึกษาทั้งหมด 9 กระทรวง ในระดับก่อนประถมศึกษามีตั้งแต่ต่ำกว่า 3 ปี จนถึงอายุ 7 ปี ในขณะที่เข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษามีตั้งแต่ 5 ปี จนถึงอายุมากกว่า 15 ปี และเข้ารับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมีอายุตั้งแต่ 11 ปี จนถึงอายุที่มากกว่า 18 ปี ซึ่งจากข้อกำหนดตามมาตรา 17 ที่เด็กต้องมีอายุ 6 ปีเต็มหรือย่างเข้า 7 ปี โดยคำนวณอายุตามประกาศเปิดภาคเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ (ประมาณ ณ วันที่ 16 พฤษภาคม ของทุกปี) 1.1 ระดับก่อนประถมศึกษา อายุ 3-5 ปี ไม่รวมเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ของสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) ในปีการศึกษา 2563 มีอัตราการเข้าเรียนสุทธิแบบปรับ (ANER) อยู่ที่ ร้อยละ 75.15 โดยที่มีเด็กไม่รับการศึกษา (OOSC) ร้อยละ 24.85 ดัชนีความเสมอภาคทางเพศ (GPI) ของอัตราการเข้าเรียนสุทธิแบบปรับ เท่ากับ 1.0 คือ มีอัตราการเข้าเรียนสุทธิแบบปรับของเด็กชายและเด็กหญิงใกล้เคียงกัน และมีอัตราส่วนนักเรียน 14 คน ต่อ ครู 1 คน โดยการเข้าถึงการศึกษาของนักเรียนในระดับก่อนประถมศึกษาอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากมีนกเรียนส่วนหนึ่งอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและนักเรียนส่วนใหญ่เริ่มเข้ารับการศึกษาตอนอายุ 4 ขวบ 1.2 ระดับประถมศึกษา อายุ 6-11 ปี ในปีการศึกษา 2563 มีอัตราการเข้าเรียนสุทธิแบบปรับ (ANER) อยู่ที่ร้อยละ 99.93 โดยที่มีเด็กที่ไม่รับการศึกษา (OOSC) ร้อยละ 0.07 ที่ประกอบด้วยนักเรียนที่เข้าเรียนช้าหรือกำลังศึกษาอยู่ในระดับก่อนประถมศึกษาร้อยละ 0.06 และเป็นนักเรียนที่ไม่ได้รับการศึกษาอยู่ที่ร้อยละ 0.01 หรือประมาณ 453 คน ดัชนีความเสมอภาคทางเพศ (GPI) ของอัตราการเข้าเรียนสุทธิแบบปรับ เท่ากับ 0.93 คือ มีอัตราการเข้าเรียนสุทธิแบบปรับของเด็กชายน้อยกว่าเด็กหญิงเล็กน้อย และมีอัตราส่วนนักเรียน 14 คน ต่อ ครู 1 คน 1.3 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น อายุ 12-14 ปี ในปีการศึกษา 2563 มีอัตราการเข้าเรียนสุทธิแบบปรับ (ANER) อยู่ที่ร้อยละ 89.81 โดยที่มีเด็กที่ไม่รับการศึกษา (OOSC) ร้อยละ 10.19 ที่ประกอบด้วยนักเรียนที่เข้าเรียนช้าหรือกำลังศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษาร้อยละ 6.72 และเป็นนักเรียนที่ไม่ได้รับการศึกษาอยู่ที่ร้อยละ 3.48 หรือประมาณ 8.3 หมื่นคน ลดลงจากปีการศึกษา 2562 และมีดัชนีความเสมอภาคทางเพศ (GPI) ของอัตราการเข้าเรียนสุทธิแบบปรับ เท่ากับ 0.97 คือ อัตราการเข้าเรียนสุทธิแบบปรับของเด็กชายน้อยกว่าเด็กหญิงเล็กน้อย และมีอัตราส่วนนักเรียน 20 คน ต่อ ครู 1 คน 1.4 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อายุ 15-17 ปี ที่รวมนักเรียนสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในปีการศึกษา 2563 มีอัตราการเข้าเรียนสุทธิ แบบปรับ (ANER) อยู่ที่ร้อยละ 66.66 โดยที่มีเด็กที่ไม่รับการศึกษา (OOSC) ร้อยละ 33.34 ที่ประกอบด้วยนักเรียนที่เข้าเรียนช้าหรือกำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 9.41 และเป็นนักเรียนที่ไม่ได้รับการศึกษาอยู่ที่ร้อยละ 23.93 หรือประมาณ 6.1 แสนคน ลดลงจากปีการศึกษา 2562 และมีดัชนีความเสมอภาคทางเพศ (GPI) ของอัตราการเข้าเรียนสุทธิแบบปรับ เท่ากับ 0.83 คือ อัตราการเข้าเรียนสุทธิแบบปรับของเด็กชายน้อยกว่าเด็กหญิง และมีอัตราส่วนนักเรียน 18 คน ต่อ ครู 1 คน