การจัดการศึกษาเฉพาะทาง เป็นการจัดการศึกษาที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากการจัดการศึกษาทั่วไปที่จัดในสถานศึกษาปกติ โดยมุ่งเน้นจัดการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรให้มีความรู้และทักษะวิชาชีพเฉพาะทางสอดคล้องกับความต้องการและภารกิจของหน่วยงาน โดยกระทรวงศึกษาธิการมีการประกาศใช้กฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาเฉพาะทาง พ.ศ. 2547 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2547 และเป็นไปตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ที่กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ อาจจัดการศึกษาเฉพาะทางตามความต้องการและความชำนาญของหน่วยงานนั้นได้ โดยคำนึงถึงนโยบายและมาตรฐานการศึกษาของชาติ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ปัจจุบันมีหน่วยงานที่จัดการศึกษา ได้แก่ กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร สภากาชาดไทย และเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มีแนวทางการจัดการศึกษา ที่ชัดเจนและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามีครู อาจารย์ ที่มีคุณวุฒิการศึกษาและความเชี่ยวชาญชำนาญ ทางวิชาชีพจากประสบการณ์การทำงานจริงมาสอนถ่ายทอดความรู้และฝึกปฏิบัติอย่างเข้มข้นให้แก่ผู้เรียนโดยตรง นอกจากนี้หน่วยงานที่จัดการศึกษาเฉพาะทางได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบัน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานด้านการศึกษาอื่น ๆ เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรการศึกษาเฉพาะทาง มีการเชื่อมโยงกับการศึกษาในระบบอื่น อันจะส่งผลให้ผู้จบการศึกษาจากหลักสูตรการศึกษาเฉพาะทางได้ศึกษาต่อ ในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น หรือเป็นการเพิ่มทักษะในการปฏิบัติงานเพื่อการดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น