คู่มือคัดกรองและพัฒนาพหุปัญญาเป็นผลจากการศึกษารูปแบบกลไกพหุปัญญาการพัฒนาและส่งเสริมพหุปัญญา โดยได้จัดทำเป็นเครื่องมือสำหรับครูผู้สอนและผู้ปกครองได้ใช้เป็นแบบสังเกตพฤติกรรมผู้เรียนหรือบุตรหลาน ตามพหุปัญญาทั้งหมด 9 ด้าน ประกอบด้วย ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ด้านธรรมชาติวิทยา ด้านการเข้าใจระหว่างบุคคล ด้านมิติสัมพันธ์ ด้านการดำรงอยู่ของชีวิต ด้านการเข้าใจตนเอง ด้านภาษา ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ และด้านดนตรี เพื่อการวิเคราะห์และส่งเสริมศักยภาพผู้เรียนเป็นรายบุคล นอกจากนี้ เอกสารคู่มือคัดกรองและพัฒนาพหุปัญญาได้สรุปรูปแบบและกลไกในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาพหุปัญญาในแต่ละด้าน โดยรูปแบบ A2D ประกอบด้วย A1 : Area of Intelligences คือความสามารถทางด้านสมองในแต่ละด้านของพหุปัญญา A2 : Learning Activity คือ การปฏิบัติกิจกรรมให้สอดคล้องกับการพัฒนาพหุปัญญาในแต่ละด้าน และ D : Digital Platform คือการนำดิจิทัลแพลตฟอร์ม หรือแอพพลิเคชั่น หรือโปรแกรมสำเร็จรูป เข้ามาส่งเสริมการพัฒนาพหุปัญญา ซึ่งการใช้รูปแบบ A2D จะขับเคลื่อนโดยใช้กลไก 8 กลไก ได้แก่ สายสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับครูหรือผู้ปกครอง สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม พีระมิดการเรียนรู้ การเรียนรู้เชิงรุกของผู้เรียน แรงจูงใจในการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบกลุ่มย่อย การใช้สื่อเทคโนโลยี และการประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียน และปัจจัยในความสำเร็จ 2 เงื่อนไข ได้แก่ ปัจจัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษในยุคดิจิทัลทั้งในระดับชาติ ท้องถิ่น ชุมชน และในระดับครัวเรือน และปัจจัยความเชื่อมโยงจากหน่วยงานนโยบายระดับชาติไปยังหน่วยงานนโยบายระดับท้องถิ่น ระดับปฏิบัติ จนไปถึงตัวผู้เรียน