Text Size Languages
การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย เรื่อง รูปแบบการพัฒนาศักยภาพนักเรียนและครูเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เสริมสร้างสุขภาวะในชั้นเรียน กรณีศึกษา โรงเรียนสุรนารีวิทยา 2
การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย เรื่อง รูปแบบการพัฒนาศักยภาพนักเรียนและครูเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เสริมสร้างสุขภาวะในชั้นเรียน กรณีศึกษา โรงเรียนสุรนารีวิทยา 2

เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาพฤติกรรมเด็กและเยาวชนในจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะในโรงเรียนต่างๆ สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 4 จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครราชสีมา ได้จัดทำงานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research : R2R) โดยมุ่งหมายให้เข้าใจถึงสถานการณ์ ปัญหา สาเหตุ อันจะนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเด็กและเยาวชน ลดปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชนในโรงเรียน การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนและสถานการณ์เด็กและเยาวชนในโรงเรียนสุรนารีวิทยา 2 และ 2) เพื่อเสริมความรู้ ความเข้าใจพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น ให้ทันกับสถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชนในโรงเรียน กลุ่มเป้าหมายในการศึกษา ได้แก่ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสุรนารีวิทยา 2 จำนวน 166 คน โดยมีผู้บริหารโรงเรียน ครูประจำชั้น นักสังคมสงเคราะห์บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดนครราชสีมา และบุคลากรของสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 4 เป็นคณะผู้วิจัย และมีที่ปรึกษางานวิจัยเป็นผู้เอื้ออำนวยการวิจัย รูปแบบพัฒนางานประจำเป็นงานวิจัย (Routine to Research : R2R) และแบบประเมินต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทยเป็นเครื่องมือในการวิจัย ซึ่งพัฒนาโดยรองศาสตราจารย์นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี โดยการประเมินต้นทุนชีวิต ประกอบด้วย 2 มิติ และ 5 พลังชีวิต คือ พลังชีวิตภายใน ได้แก่ พลังตนเอง และพลังชีวิตภายนอก ได้แก่ พลังครอบครัว พลังปัญญา พลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชน โดยจัดทำแบบประเมินต้นทุนชีวิตในรูปแบบ Google form นำมาวิเคราะห์ และประมวลผลตามหลักเกณฑ์การประเมินต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทย ผลการศึกษา พบว่า ข้อที่มีคะแนนต่ำกว่าร้อยละ 60 จากจำนวน 48 ข้อ มีจำนวน 17 ข้อ (ไม่ผ่านเกณฑ์) จัดลำดับ 10 อันดับได้ดังนี้ 1) การอ่านหนังสือด้วยความเพลิดเพลินเป็นประจำ ค่าคะแนนร้อยละ 40.36 2) มีเพื่อนบ้านคอยสอดส่อง และดูแลพฤติกรรมของเด็กให้เหมาะสม ค่าคะแนนร้อยละ 46.79 3) การร่วมทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ในชุมชนเป็นประจำ ค่าคะแนนร้อยละ 46.99 4) มีเพื่อนบ้านที่สนใจและให้กำลังใจ ค่าคะแนนร้อยละ 47.39 5) การได้รับมอบหมายหน้าที่ที่มีคุณค่า และเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ค่าคะแนน ร้อยละ 47.59 6) การพูดคุย แลกเปลี่ยนเรื่องราวเกี่ยวกับสื่อ เช่น วิทยุ ทีวี สื่อประเภทอื่นๆ กับครูเป็นประจำ ค่าคะแนนร้อยละ 50.80 7) การทำการบ้านหรือทบทวนบทเรียนทุกวัน ค่าคะแนนร้อยละ 51.20 8) ความกล้ายืนหยัดในสิ่งที่เชื่อ เช่น กล้าเสนอความคิดเห็น แม้ว่าบางครั้งจะมีความเห็นแตกต่างจากผู้อื่น ค่าคะแนน ร้อยละ 54.02 9) การร่วมกิจกรรมทางศาสนาหรือประกอบพิธีกรรมเป็นประจำ ค่าคะแนนร้อยละ 54.82 และ 10) รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ค่าคะแนนร้อยละ 57.83 หากพิจารณาพลังต้นทุนชีวิตรายหมวด พบว่า 1) ต้นทุนชีวิตภายในพลังตัวตน มีทั้งหมด จำนวน 15 ข้อ ผ่านเกณฑ์ จำนวน 13 ข้อ และไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 2 ข้อ 2) ต้นทุนชีวิตภายนอกพลังครอบครัว มีทั้งหมด จำนวน 8 ข้อ ผ่านเกณฑ์ จำนวน 6 ข้อ และไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 2 ข้อ 3) ต้นทุนชีวิตภายนอกพลังสร้างปัญญา มีทั้งหมด จำนวน 11 ข้อ ผ่านเกณฑ์ จำนวน 6 ข้อ และไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 5 ข้อ 4) ต้นทุนชีวิตภายนอกพลังเพื่อนและกิจกรรม มีทั้งหมด จำนวน 6 ข้อ ผ่านเกณฑ์ จำนวน 5 ข้อ และไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 1 ข้อ และ 5) ต้นทุนชีวิตภายนอกพลังชุมชน มีทั้งหมด จำนวน 8 ข้อ ผ่านเกณฑ์ จำนวน 1 ข้อ และไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 7 ข้อ ผลการศึกษาเชิงคุณภาพ พบว่า พลังชุมชนเป็นต้นทุนชีวิตภายนอกที่เด็กและเยาวชนที่มีจำนวนข้อไม่ผ่านเกณฑ์มากที่สุด จำเป็นที่ต้องได้รับการส่งเสริมเป็นอันดับแรก ซึ่งตัวชี้วัดเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชน การมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน การมีผู้ใหญ่ในชุมชนที่เป็นแบบอย่าง หรือการมีผู้ใหญ่ใส่ใจที่จะให้กำลังใจเด็กและเยาวชน สอดส่องดูแลเด็กและเยาวชน และการได้รับการยอมรับและเห็นคุณค่าของเด็กและเยาวชน การร่วมเป็นอาสาสมัครของเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย การบำเพ็ญประโยชน์ให้ชุมชนน้อยหรือได้รับมอบหมายงานจากชุมชน ในขณะเดียวกันจากตัวชี้วัดต้นทุนชีวิตรายข้อ พบว่าพลังปัญญา มีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์มากที่สุด และเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ คือเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย อ่านหนังสือน้อย และการใฝ่รู้ภูมิปัญญา วัฒนธรรมชุมชนน้อย และการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวเกี่ยวกับสื่อ เช่น วิทยุ ทีวี สื่อประเภทอื่นๆ กับครูมีน้อย สำหรับพลังตัวตน ซึ่งเป็นพลังภายในมีข้อห่วงใย คือ ตัวชี้วัดการรู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเองของเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย ต่ำกว่าเกณฑ์ (ร้อยละ 57.83) พลังครอบครัว ตัวชี้วัดที่ต้องเติมพลังชีวิต คือ การสื่อสารในครอบครัว ทั้งการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องของสื่อต่างๆ และการขอคำปรึกษาหารือ สำหรับพลังเพื่อนและพลังกิจกรรม เป็นต้นทุนชีวิตที่อยู่ในระดับที่ผ่านเกณฑ์ ยกเว้นการทำกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนา และพิธีกรรมทางศาสนา คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการจัดเวทีคืนข้อมูล และระดมความคิดเห็น เพื่อหาแนวทาง/กิจกรรมเพิ่มต้นทุนชีวิต การให้ความรู้เกี่ยวกับเด็กเยาวชนกับสื่อดิจิทัล ภัยออนไลน์ และการขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาแก่นักเรียน รวมทั้งระดมความคิดเห็นการวางแนวทาง/กิจกรรม เพื่อเติมพลังต้นทุนชีวิตที่ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ซึ่งได้นำเสนอเป็นแนวทางการเพิ่มพลังต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนในลักษณะโครงการรายหมวด ดังนี้ 1. ต้นทุนชีวิตภายในพลังตัวตน มีกิจกรรม/โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการ “แกนนำห้องเรียนสีขาว” 2) โครงการ “คิดต่างอย่างสร้างสรรค์” 3) โครงการ “ประกวด Girl/Boy To be number one” 4) โครงการ “เยาวชนกินดีอยู่ดี มีสุข” 5) โครงการ “อาสาสมัครประจำโรงเรียน (อสร.) หรือเยาวชนอาสาประจำโรงเรียน (ยสร.)” 6) โครงการ “วัยสวย วัยใส” 7) โครงการ “รณรงค์อาหารปลอดภัย” และ 8) โครงการ “รู้ใช้ รู้ออม รู้ลงทุน รู้ทันภัยทางการเงิน เพื่ออนาคต” 2. ต้นทุนชีวิตภายนอกพลังครอบครัว มีกิจกรรม/โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการ “ครอบครัวสร้างสุข” และ 2) โครงการ“งานบ้าน...งานทุกคน” 3. ต้นทุนชีวิตภายนอกพลังสร้างปัญญา มีกิจกรรม/โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการ “นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้และชีวิตประจำวัน” 2) โครงการ “การบ้าน...คุณภาพและคุณธรรม” 3) โครงการ “อ่านอย่างไรให้ทรงพลัง” 4) โครงการ “ขุมทรัพย์ความรู้ในชุมชน” และ 5) โครงการ “ทอลค์... สร้างแรงบันดาลใจ” 4. ต้นทุนชีวิตภายนอกพลังเพื่อนและกิจกรรม มีกิจกรรม/โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการ “แต้มบุญ เพิ่มพลังบวก” 2) โครงการ“รู้ทันสื่อ...รู้ทันตัวเอง” และ 3) โครงการ “ส่งเสริมทักษะการให้คำปรึกษาฉันเพื่อน” 5. ต้นทุนชีวิตภายนอกพลังชุมชน มีกิจกรรม/โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการ “พี่เลี้ยงเยาวชนในชุมชน” 2) โครงการ “สร้างโลกสีเขียวรอบตัว” 3) กิจกรรม “อาสาสมัครเยี่ยมบ้านในชุมชน” และ 4) โครงการ “ชุมชนสะอาดด้วยมือเรา” ข้อเสนอแนะสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในงานวิจัยนี้ จัดทำข้อเสนอแนะสำหรับ 3 หน่วยงานหลัก ที่เป็นคณะผู้วิจัยเพื่อนำไปพัฒนางานดังนี้ 1. ข้อเสนอแนะสำหรับโรงเรียนสุรนารีวิทยา 2 ได้แก่ 1) สามารถใช้แบบประเมินต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนในแต่ละระดับชั้นได้ เพื่อออกแบบกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น 2) การคิดค้นกิจกรรมเพื่อเพิ่มต้นทุนชีวิตพลังชุมชนในสถานการณ์หลังโควิด (ชีวิตวิถีใหม่) อาจจะต้องปรับให้สอดคล้องกับบริบทชุมชน 3) ข้อเสนอแนะกิจกรรมเสริมพลังต้นทุนชีวิตข้างต้น มาจากการมีส่วนร่วมของนักเรียน ครู ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการ ตรงตามประเด็น และบางกิจกรรมเป็นกิจกรรมในปฏิทินโรงเรียนอยู่แล้ว โดยสามารถเลือกทำบางกิจกรรม และบูรณาการในกลุ่มสาระวิชา หรือปรับใช้กับกิจกรรม “เพิ่มเวลารู้ ลดเวลาเรียน” และ 4) ควรมีการติดตาม ประเมินผล ควรวัดต้นทุนชีวิตอีกครั้งเมื่อสิ้นปีการศึกษา ซึ่งจะช่วยให้เห็นพัฒนาการของต้นทุนชีวิตที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง 2. ข้อเสนอแนะสำหรับสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 4 ได้แก่ 1) รูปแบบการวิจัยแบบ R2R เป็นการวิจัยที่สามารถนำไปใช้กับการพัฒนางาน โดยนำผลการวิจัยไปพัฒนางานและเมื่อพบโจทย์ใหม่ สามารถนำความรู้เรื่องงานวิจัยแบบ R2R มาใช้กับประเด็นปัญหาที่ต้องการแก้ไขหรือพัฒนาของหน่วยงานได้ เพื่อให้สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 4 สามารถสนับสนุนด้านวิชาการได้อย่างเป็นระบบ และ 2) ควรกระตุ้นให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในระดับจังหวัด ใช้ความรู้และงานวิจัยแก้ไขปัญหาของพื้นที่ที่เรียกกันว่า “เหตุเกิดที่ไหน แก้ที่นั่น” เพื่อพัฒนาระบบบริการให้แก่กลุ่มเป้าหมายทางสังคมเฉพาะแต่ละกลุ่ม (Target based) หรือ การพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area base) รวมถึงการพัฒนาระบบบริการ (Services Providing) ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการพัฒนาสมรรถนะผู้ปฏิบัติงานแนวหน้าและบุคลากรสนับสนุน 3. ข้อเสนอแนะสำหรับบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ 1) ข้อมูลแบบสำรวจต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชน สามารถสะท้อนประเด็นที่เป็นปัญหาเฉพาะราย เนื่องจากเป็นแบบประเมินที่เด็กและเยาวชนประเมินตนเอง สามารถนำไปสืบเสาะข้อมูลเชิงลึกและให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมได้ 2) เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ การทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเรียนรู้เชิงป้องกัน สามารถใช้งานวิจัยเข้ามาเป็นเครื่องมือเพิ่มความน่าเชื่อถือในการทำงาน และสามารถแก้ไขปัญหา หรือป้องกันได้ตรงจุด แม้ว่าจะไม่สามารถแก้ไขได้ในทุกปัญหา แต่จะทำให้หน่วยงานและทีมสหวิชาชีพได้ร่วมกันจัดลำดับความสำคัญของปัญหา แก้ไขปัญหาได้จริง หรือสามารถนำไปพัฒนางาน โดยการทำงานกับภาคีเครือข่ายได้ 3) การใช้เครื่องมือต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทยเป็นเครื่องมือการพัฒนาเด็กและเยาวชน ที่ผ่านการวิจัยและเป็นที่ยอมรับ โดยมีศูนย์คุณธรรมเป็นหน่วยงานสนับสนุนองค์ความรู้ งานวิจัย และงานปฏิบัติการที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดนครราชสีมา สามารถประสานงาน เพื่อพัฒนาระบบการปฏิบัติงานได้ในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดภาระและเพิ่มความน่าเชื่อถือในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนได้เป็นอย่างดี 4) เครื่องมือการทำงานด้านเด็กและเยาวชนมีอยู่มากมาย ที่เป็นที่ยอมรับเชิงวิชาการ ไม่ต้องคิดค้นเครื่องมือใหม่ และยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยสถาบันและองค์กรด้านวิชาการต่างๆ และการใช้ Google form ในการเก็บข้อมูล ทำให้ลดเวลาในการจัดเก็บข้อมูลได้ดี แต่การนำมาใช้ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและประเด็นการทำงานเป็นเรื่องของการพัฒนาสมรรถนะบุคลากร และ 5) การนำงานวิจัย R2R ไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ได้ และสามารถบูรณาการเข้าไปในภารกิจตามนโยบายของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ระดับจังหวัดได้

Organizations :
สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
Metadata last updated :
April 7, 2023
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
Office of the National Economic and Social Development Council (NESDC)
เลขที่ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
โทร : 0-2280-4085 ต่อ 6221-6241
โทรสาร : 02-280-6384, 02-628-2858
E-mail : open-d@nesdc.go.th
All rights reserved 2016 - NESDC. Powered By NECTEC.