นวัตกรรมการจัดการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน โดยใช้ชุมชน เป็นศูนย์กลาง
Groups
โครงการวิจัย “นวัตกรรมการจัดการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน โดยใช้ชุมชน เป็นศูนย์กลาง” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวและชุมชนในพื้นที่ ศึกษากระบวนขับเคลื่อนและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน โดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ศึกษาบทบาทของเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน และเพื่อจัดทำนวัตกรรมการจัดการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างเชิงประมาณ คือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 500 คน เชิงคุณภาพ ประกอบด้วยเครือข่ายด้านการพัฒนาสังคมและสวัสดิการระดับพื้นที่ ได้แก่ คณะทำงานศูนย์พัฒนาครอบครัว ประชาชนในพื้นที่ อปท. ผู้นำชุมชน อาสาสมัครต่างๆ หน่วยงานในพื้นที่ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง สรุปผลการศึกษาได้ ดังนี้
1. สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวและชุมชนในพื้นที่ โดยแบ่งออกเป็น
1.1 สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว การแสดงพฤติกรรมอารมณ์รุนแรงหรือใช้กำลังในการกระทำความรุนแรงของสมาชิกในครอบครัว ส่วนใหญ่ไม่มีการแสดงพฤติกรรม หากมีการแสดงพฤติกรรมความรุนแรง ส่วนใหญ่แสดงออกในลักษณะของการดุด่าด้วยอารมณ์ ไม่มีเหตุผล โดยมีวิธีการแก้ไขปัญหาหากเกิดปัญหาความรุนแรงขึ้นในครอบครัว คือทำกิจกรรมนอกบ้าน สาเหตุของการกระทำความรุนแรงในครอบครัว เกิดจากความเครียด สุรา และเศรษฐกิจ เช่น ยากจน ไม่มีงานทำ เป็นต้น
1.2 สถานการณ์ความรุนแรงในชุมชน การพบเห็นการแสดงพฤติกรรมความรุนแรงในชุมชน และผู้กระทำความรุนแรงจากการพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในชุมชน ส่วนใหญ่เคยพบเห็นการแสดงพฤติกรรมความรุนแรงในชุมชน โดยผู้ที่กระทำความรุนแรง ส่วนใหญ่เป็นสามีทำร้ายภรรยา แม่ทำร้ายลูก และลูกทำร้ายแม่ พ่อทำร้ายลูก สาเหตุของความรุนแรงที่พบเห็นในชุมชน เกิดจากการดื่มสุรา
สิ่งที่จะทำเมื่อพบเห็นเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงต่อกันทั้งในที่สาธารณะหรือที่บ้าน ส่วนใหญ่จะเฉยๆ ไม่กล้าเข้าไปยุ่ง เนื่องจากเป็นเรื่องส่วนตัว การจัดการแก้ไขปัญหาความรุนแรงของชุมชน เมื่อเกิดการกระทำความรุนแรงขึ้นทั้งในครอบครัวและชุมชน มีการจัดการแก้ไขปัญหาความรุนแรง หน่วยงานหรือบุคคล ในชุมชนที่เข้าช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการกระทำความรุนแรงขึ้นในครอบครัวและชุมชน เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
1.3 บทบาทของชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน ส่วนใหญ่เห็นว่าสิ่งที่ชุมชนดำเนินการ คือ การการรณรงค์หรือประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชนของชุมชน 1 – 2 ครั้ง/เดือน การให้คำปรึกษาชี้แนะแก่ผู้ถูกกระทำความรุนแรง การว่ากล่าว หรือตักเตือนผู้ที่กระทำความรุนแรงในครอบครัวหรือชุมชน การประสานขอความช่วยเหลือของชุมชน กรณีเกิดความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน และส่วนใหญ่เห็นว่าสิ่งที่ชุมชน ยังไม่ได้ คือ กระบวนการในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน ของชุมชน การจัดการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในชุมชนของชุมชน เจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่คอยช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงในชุมชน
2. กระบวนขับเคลื่อนและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน 1) สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น อำเภอ ตำรวจ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ สาธารณสุข ผู้นำชุมชน ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ กับชุมชน ให้ประชาชนเกิดความไว้วางใจและได้รับความคุ้มครองทางสังคม มีความเป็นกลาง รับทราบปัญหาและเร่งแก้ไข 2) อำนวยความสะดวก ประสานงาน ให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน 3) ร่วมกับอำเภอ เกษตรอำเภอ ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ในการใช้ประโยชน์จากดิน และน้ำ ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของชุมชน เพื่อพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส 4) ร่วมมือกับสาธารณสุข โรงพยาบาล โรงเรียน ส่งเสริม รณรงค์ ป้องกัน สุขภาพและอนามัยของประชาชน ส่งเสริม จัดกิจกรรมการกีฬาในชุมชน 5) ส่งเสริม สนับสนุน เปิดโอกาสให้เด็กได้รับการศึกษา จัดกิจกรรมให้ความรู้ต่างๆ
3. บทบาทของเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน เครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน ได้แก่ หน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุพรรณบุรี บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสุพรรณบุรี กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ ศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ศูนย์ดำรงธรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แก่ ตำรวจภูธรจังหวัดสุพรรณบุรี กระทรวงยุติกรรม ได้แก่ สำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดสุพรรณบุรี กระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 9 และโรงเรียนในพื้นที่
การดำเนินงานของภาคีเครือข่ายต่างๆ จะเป็นในลักษณะของการให้การช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวและชุมชนขึ้นแล้วในรูปแบบต่างๆ โดยใช้กระบวนการทางกฎหมายเข้ามาแก้ไขปัญหา
4. การจัดทำนวัตกรรมการจัดการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน โดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง
การจัดการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน โดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง โดยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานแก้ไขปัญหา การดำเนินงานพัฒนาสังคมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง ถ้าพอประมาณเราทำได้ มีเหตุผล คิด พูดคุย ด้วยความประนีประนอม มีเหตุผล ภูมิคุ้มกันนั้นเกิดจากการเรียนรู้สิ่งที่ผิดเพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่ไม่เกิดข้อผิดพลาดอีก ภูมิคุ้มกันเราสร้างได้ 2 เงื่อนไข ความรู้ คู่คุณธรรม ถ้าทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจ มีการศึกษา ปัญหาจะไม่ค่อยเกิด ถ้ามีความรู้ เมื่อพบเจอปัญหาความรุนแรง จะใช้เหตุผลในการพิจารณามากขึ้น จะใช้จิตวิทยาในการพูดต่างๆ คือ นำความรู้มาใช้ คุณธรรมเป็นคนดี มีการนำ บ้าน วัด โรงเรียน (บวร) มาเชื่อมโยงการดำเนินงาน เข้าวัดฟังธรรม แล้วนำมาถือปฏิบัติจะเกิดสิ่งที่ดีมีคุณธรรม มีความดีที่เกิดขึ้น
การจัดการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน โดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 กรณี
4.1 กรณีปัญหายังไม่เกิด ต้องสร้างภูมิคุ้มกันในการแก้ไขปัญหา การดำเนินกิจกรรมในพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว และชุมชน ลดช่องว่างระหว่างครอบครัวและชุมชน ให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้นทั้งในครอบครัวและชุมชน โดยการสร้างกิจกรรม/เหตุการณ์ เพื่อให้เกิดกระบวนการคิดในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน การสร้างสังคมที่ดี ลดปัญหาความขัดแย้งในชุมชน ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น กิจกรรมโรงเรียนครอบครัว กิจกรรมด้านสุขภาพ การส่งเสริมอาชีพ เป็นต้น
4.2 กรณีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ปัญหาสังคมเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ต้องมีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหา ซึ่งต้องร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน 3 กระบวนการ คือ “ร่วมคิด ร่วมวิเคราะห์ และร่วมแก้ไขปัญหา” มีขั้นตอนในการแก้ไขปัญหา 2 ขั้นตอน คือ การหาวิธีแก้ไขปัญหา และการหาคนช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน “ช่วยพูด ช่วยคุย ช่วยบอก”
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
1.1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรกำหนดนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน โดยการหนุนเสริมการดำเนินงานของท้องถิ่น ทั้งด้านบุคลากรให้ความรู้ และงบประมาณในการดำเนินงาน โดยให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการเพื่อสร้างรากฐานของสังคมให้เข้มแข็ง
1.2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรให้ความสำคัญกับสภาเด็กและเยาวชน ในการเข้ามาเป็นองค์กรขับเคลื่อนด้านความรุนแรง เป็นศูนย์กลางให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา กับเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหาความรุนแรง พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชน เพื่อไม่ให้ปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้น
1.3 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนเพิ่มมากขึ้น ในด้านของการจัดกิจกรรมให้สถาบันครอบครัวเข้าใจในบทบาทการแสดงต่อกันทั้งในครอบครัวและชุมชนอย่างต่อเนื่อง อันจะส่งผลให้ทุกคนในชุมชนแสดงบทบาทของตนเองอย่างเหมาะสม
1.4 สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ ควรส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการจัดการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชนเพิ่มมากขึ้น โดยการสร้างจิตสำนึกในการมองปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน ให้มองว่าปัญหาความรุนแรงเป็นปัญหาของสังคม ชุมชน ไม่ใช่ปัญหาภายในครอบครัว และเมื่อประสบกับปัญหา หรือพบเห็นปัญหาต้องไม่นิ่งเฉย ต้องร่วมกันในการแก้ไขปัญหา ให้หมดไปจากครอบครัวหรือชุมชน
2. ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการ
2.1 สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ ควรขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน และสร้างรากฐานทางสังคมให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว การดำเนินงานในลักษณะของการสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นในครอบครัว เพื่อลดความห่างเหินระหว่างวัยภายในครอบครัว
2.2 หน่วยงานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ควรให้ความสำคัญกับศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน โดยการพัฒนาศักยภาพของคณะทำงานให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน และให้มีกระบวนการในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ให้ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน เป็นศูนย์กลางของคนทุกวัย
2.3 หน่วยงานของทุกกระทรวง อาทิ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงยุติกรรม ฯลฯ ควรร่วมมือดำเนินการ ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำความรุนแรง ปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนในชุมชนให้มองปัญหาความรุนแรงในครอบครัว หรือในชุมชน เป็นปัญหาของชุมชน ปัญหาของส่วนรวม ที่ต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาให้ลดลงหรือหมดไป
2.4 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรเพิ่มกระบวนการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน การจัดการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในชุมชนของชุมชน และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่คอยช่วยเหลือผู้ถูกระทำความรุนแรงในชุมชน เพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจ ในปัญหา และเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน
2.5 หน่วยงานท้องที่และท้องถิ่น กลุ่มองค์กร แกนนำชุมชนต่างๆ ควรน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาชุมชน หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ทำให้เกิดการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างมีขั้นตอนและกระบวนการในการทำงานที่ชัดเจนและสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง