โครงการวิจัยการส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางจากโควิด-19 มีหลักประกันและความมั่นคงด้านคุณภาพชีวิตโดยใช้เศรษฐกิจชุมชนฐานราก มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์และผลกระทบที่มีต่อแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อศึกษาแนวทางการส่งเสริมให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มีความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้ เพื่อศึกษาทุนทางสังคมที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งเพื่อศึกษาแนวทางการประกอบอาชีพและรายได้โดยอาศัยเศรษฐกิจชุมชน โครงการวิจัยชิ้นนี้ใช้วิธีการวิจัยแบบผสานวิธี ซึ่งประกอบด้วย การวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพที่มีทั้งวิธีการสนทนากลุ่ม และการสัมภาษณ์เชิงลึก สำหรับการวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย คือ ประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้และการทำงานจากสถานการณ์โควิด-19 และสมาชิกในชุมชนที่รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์ในพื้นที่ โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัย จำนวน 450 ชุด ส่วนการสนทนากลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 กับกลุ่มตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านการส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ เช่น ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนจากสำนักงานแรงงานจังหวัด ตัวแทนจากวิทยาลัยชุมชน ตัวแทนจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด รวมทั้งตัวแทนของประชาชนกลุ่มเปราะบางและผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยจัดขึ้น 3 ครั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มเป้าหมายจำนวน 15 คน/1 ครั้ง รวมเป็น 45 คน สำหรับการสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในเขตพื้นที่ จำนวน 2 ท่าน ผลการวิจัย พบว่า ประชากรตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 30.00 จบการศึกษาในระดับประถมศึกษา อาชีพก่อนประสบปัญหาเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปร้อยละ 44.20 ปัจจุบันส่วนใหญ่ประสบปัญหาว่างงาน/ไม่มีอาชีพที่แน่นอนร้อยละ 52.40 รายได้ของครอบครัวต่อเดือนไม่เกิน 5,000 บาทเป็นส่วนใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 48.20 ประชากรตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.30 ไม่มีทักษะความรู้ ประสบการณ์ หรือความสามารถพิเศษที่จะนำมาประยุกต์ใช้พัฒนาเป็นอาชีพได้ จากผลกระทบที่เกิดขึ้นได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก ร้อยละ 33.80 โดยเป็นการมอบถุงยังชีพ/สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันเป็นส่วนใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 43.10 ส่วนสิ่งที่ประชากรตัวอย่างต้องการได้รับความช่วยเหลือมากที่สุดคือเงินรายได้ที่เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 74.90 รองลงมาร้อยละ 66.20 ต้องการมีอาชีพ/มีงานทำ ซึ่งทักษะความรู้ด้านอาชีพที่ต้องการได้รับการสนับสนุนมากที่สุดคือ การทำอาหาร ขนม เบเกอรี่ ร้อยละ 54.20 รองลงมาคือทักษะด้านการเพาะปลูก/การเกษตร ร้อยละ 29.60 ส่วนการประเมินคุณภาพชีวิตในปัจจุบันหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.96 มีเพียงบางประเด็นที่อยู่ในระดับมากคือความคิดเห็นที่ว่าชีวิตยังมีความหมาย โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.89 อย่างไรก็ดีปัญหาด้านรายได้และการทำงานยังคงเป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินชีวิตปัจจุบัน มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.56 ส่วนเรื่องของเงินเก็บออมรองรับการใช้จ่ายในยามจำเป็นมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด เท่ากับ 2.02 เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะส่วนบุคคลกับค่าเฉลี่ยการประเมินคุณภาพชีวิตพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการประเมินคุณภาพชีวิตที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ คือจังหวัดที่อยู่อาศัย และระดับของรายได้ โดยประชากรตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสมีค่าเฉลี่ยของระดับคุณภาพชีวิตต่ำที่สุด และประชากรตัวอย่างที่มีระดับรายได้ต่อครัวเรือน 15,001 – 20,000 บาท มีค่าเฉลี่ยของระดับคุณภาพชีวิตสูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า ข้อมูลเชิงคุณภาพแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและมิติทางสังคม โดยมิติทางเศรษฐกิจมีที่มาจากการแพร่ระบาดของโรคที่ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมตกต่ำ ประกอบกับมาตรการควบคุมโรคของภาครัฐทำให้องค์กรธุรกิจ/สถานประกอบการไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติและไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายได้ ทำให้บางส่วนปิดตัวลง ขณะที่บางส่วนที่ยังคงดำเนินกิจการต่อไปต้องมีการปรับตัวโดยลดจำนวนพนักงาน ผลกระทบที่ตามมาคือแรงงานจำนวนมากต้องประสบปัญหาการว่างงานทั้งแรงงานในสถานประกอบการหรือแรงงานรับจ้างทั่วไปที่ไม่มีงานจ้าง ส่วนแรงงานที่ยังคงมีงานทำกลับต้องรับภาระงานที่หนักมากขึ้น ข้อจำกัดจากการไม่มีอาชีพ/ไม่มีรายได้ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและคุณภาพชีวิตของแรงงานและสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเป็นผลกระทบในมิติทางสังคมที่เกิดขึ้นด้วยข้อจำกัดดังกล่าว การแก้ไขปัญหาโดยอาศัย “ทุนทางสังคม” หรือ “เศรษฐกิจฐานราก” จึงเป็นทางเลือกและทางรอดที่สำคัญ ซึ่งพบว่าในพื้นที่เป้าหมายที่ดำเนินการวิจัยมีทุนทางสังคมที่สำคัญ ทั้งทุนทางด้านความรู้/ประสบการณ์ในตัวบุคคล ทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ ทุนมนุษย์ที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ทุนเครือข่ายที่เกื้อกูลกันในชุมชน นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ที่สามารถให้การสนับสนุน ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาในพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และวิทยาลัยชุมชน สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานจัดหางาน และสำนักงานประกันสังคม รวมทั้งสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด รูปแบบ/แนวทางการส่งเสริมความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางเป็นรูปแบบ/แนวทาง 3 ระดับ ประกอบด้วย รูปแบบ/แนวทางระดับบุคคล โดยการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร บริการของหน่วยงานภาครัฐ และทักษะที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน รูปแบบ/แนวทางระดับชุมชน โดยการประยุกต์ใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน รูปแบบ/แนวทางระดับนโยบาย โดยการจัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือประชาชน มีทุนสนับสนุนทั้งด้านการเงินและทรัพยากร รวมทั้งกำหนดนโยบายด้านช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในภาวะวิกฤติให้มีความชัดเจน สำหรับแนวทาง/ขั้นตอนกระบวนการในการส่งเสริมการประกอบอาชีพให้กับประชาชน ประกอบด้วย 8 ขั้นตอนคือ (1) สำรวจข้อมูลผู้ประสบปัญหาการว่างงาน (2) สำรวจทุนทางสังคมในชุมชนท้องถิ่น (3) วิเคราะห์ศักยภาพชุมชน (4) กำหนดแผนส่งเสริมอาชีพ (5) วิเคราะห์แหล่งทุน เครือข่ายสนับสนุน (6) วิเคราะห์ความต้องการของตลาด (7) พัฒนาศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการ (8) ติดตาม ประเมินผล และพัฒนา ข้อเสนอแนะจากการวิจัยประกอบด้วย ข้อเสนอแนะในระดับปฏิบัติ ในการจัดทำฐานข้อมูลและกำหนดแผนการให้ความช่วยเหลือโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ บริการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ การพัฒนาทักษะและส่งเสริมอาชีพ การติดตาม ประเมินผล และพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและเครือข่ายทุกภาคส่วน ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สำหรับการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐในการจัดทำฐานข้อมูลและบูรณาการข้อมูลในรูปแบบ Big Data การกำหนดนโยบาย แผนงาน และมาตรการรองรับภาวะวิกฤติ การกำหนดนโยบายและแผนงานเชิงกลยุทธ์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในระดับกระทรวงอย่างเป็นรูปธรรม ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา ในการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจฐานรากเพื่อส่งเสริมอาชีพและรายได้ที่เหมาะสมกับทุนทางสังคมและบริบทของชุมชนท้องถิ่น การส่งเสริมทักษะด้านอาชีพที่หลากหลายให้กับประชาชน และการประยุกต์ใช้รูปแบบ/แนวทางการส่งเสริมคุณภาพชีวิตในการกำหนดแผนงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤติ