ปัญหาการฟอกเงินในประเทศไทยยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากสถิติคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2562 มีจำนวนรวมกันมากถึง 1,359 คำสั่ง หากวิเคราะห์และเปรียบเทียบแนวโน้มและสถานการณ์การฟอกเงิน พบว่า ปี พ.ศ. 2555 มีจำนวนคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินเพียง 44 คำสั่ง มีมูลค่าทรัพย์สินจากการกระทำผิด 156 ล้านบาท แต่จำนวนคดีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2562 ร้อยละ 25 ต่อปี กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2561 มีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินเพิ่มจากปี พ.ศ. 2555 เกือบ 5 เท่า มีจำนวนคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินมากถึง 204 คำสั่ง มีมูลค่าทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดได้เป็นจำนวน 13,162 ล้านบาท ขณะที่ในปี พ.ศ. 2562 มีคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินจำนวน 210 คำสั่ง เป็นมูลค่าทรัพย์สินจากการกระทำความผิด 2,019 ล้านบาท แนวโน้มปัญหาการฟอกเงินดังกล่าวเกิดจากความท้าทาย 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี ส่งผลให้จำนวนอาชญากรรม มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเหตุจูงใจสำคัญที่ทำให้อาชญากรต้องหาวิธีการอำพรางรายได้ที่มาจากการกระทำผิดเหล่านี้ให้กลับเข้าสู่ระบบ เพื่อให้กลายเป็นเงินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ประการที่สอง การฟอกเงินมีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนไปจากเดิม มีรูปแบบใหม่ ๆ และมีความซับซ้อนขึ้น ทำให้ยากต่อการปราบปราม เช่น การใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ การใช้สินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset) เช่น คริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล เป็นต้น การจัดตั้งบริษัทและธุรกิจบังหน้า การฟอกเงินผ่านบริษัทนำเที่ยว การฟอกเงินผ่านมูลนิธิหรือองค์กรไม่แสวงหากำไร หรือแม้แต่การใช้ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความและนักบัญชีเป็นช่องทางหรือให้ความช่วยเหลือในการฟอกเงิน ทำให้การปราบปรามและการตัดวงจรของเงินผิดกฎหมายเหล่านั้นเป็นไปได้ยาก ประการสุดท้าย ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดบางประการในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทั้งนี้จากรายงานการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2560 (Anti-money laundering and counter-terrorist financing measures: Thailand Mutual Evaluation Report December 2017) พบว่า 1) ประเทศไทยควรเพิ่มการประเมินความเสี่ยงด้านการฟอกเงินของอาชญากรรมแต่ละประเภทที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งเพิ่มการวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์เพื่อศึกษาแนวโน้ม สถานการณ์และวิธีการฟอกเงินใหม่ ๆ ทั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและมาตรการ “เชิงป้องกัน” เกี่ยวกับการป้องกันการฟอกเงินได้อย่างเหมาะสม 2) ประเทศไทยยังคงต้องแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่องด้านกฎหมายและการเพิ่มประสิทธิภาพของการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เช่น การกำกับดูแลกลุ่มอาชีพเสี่ยงเช่นผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายและนักบัญชี เป็นต้น การศึกษานี้จึงเป็นการศึกษาสถานการณ์ แนวโน้ม และความเสี่ยงของการฟอกเงินผ่านนิติบุคคลและธุรกิจบังหน้า ทนายความและนักบัญชี บริษัทนำเที่ยว ทรัสต์ต่างประเทศที่ดำเนินการในประเทศไทย การเล่นแชร์ที่มีการฉ้อโกง การฟอกเงินผ่านองค์กรไม่แสวงหากำไร และการฟอกเงินผ่านวัด เพื่อหาแนวทาง ในการป้องกันและปราบปรามที่เหมาะสมกับประเทศไทย
No issues