ผลการพัฒนารูปแบบและกลไกการพัฒนาและส่งเสริมพหุปัญญาเพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้เรียน ได้ผลสรุปคือ คือ รูปแบบ A2D ที่มีกลไกขับเคลื่อน 8 กลไก และมีเงื่อนไขหรือปัจจัยแห่งความสำเร็จ 2 เงื่อนไข โดยมีรายละเอียดของโครงสร้างรูปแบบและกลไก และภาพประกอบดังนี้ รูปแบบ A2D ประกอบด้วย : A1 คือ “Area of intelligences” หรือ “พื้นที่ของเชาวน์ปัญญาทั้ง 9 ด้าน” หมายถึง ความสามารถทางสมองของผู้เรียนตามทฤษฎีของการ์ดเนอร์ ทั้ง 9 ด้าน ที่ส่งผลต่อการคิด การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การเรียนรู้ และการดำรงชีวิตของผู้เรียน : A2 คือ “Learning activity” หรือ “กิจกรรมการเรียนรู้” หมายถึง การปฏิบัติของผู้เรียนในห้องเรียนและนอกห้องเรียนที่ถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้เรียนมีความชอบ มีความถนัด และส่งเสริมการพัฒนาเชาวน์ปัญญาทั้ง 9 ด้านของผู้เรียน : D คือ Digital Platform หรือ “ฐานดิจิทัล” หมายถึง ดิจิทัลแพลตฟอร์ม หรือ แอปพลิเคชัน หรือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปที่สนับสนุนการเรียนรู้ และส่งเสริมการพัฒนาเชาวน์ปัญญาทั้ง 9 ด้านของผู้เรียน กลไกขับเคลื่อน 8 กลไก ได้แก่ สายสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับครูหรือผู้ปกครอง สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม พีระมิดการเรียนรู้ การเรียนรู้เชิงรุกของผู้เรียน แรงจูงใจในการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบกลุ่มย่อย การใช้สื่อเทคโนโลยี และการประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียน เงื่อนไขความสำเร็จ 2 เงื่อนไข คือ ความร่วมมือ (Collaboration) และ ความเชื่อมโยง (Connection) ข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาและส่งเสริมพหุปัญญาเพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้เรียน ประกอบด้วยข้อเสนอเชิงนโยบายการวางรากฐานการจัดการเรียนรู้ที่เข้าถึงรูปแบบ A2D เช่น ความร่วมมือในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาที่สำคัญ การสร้างความเชื่อมโยงการเรียนรู้ของผู้เรียนจากสถานศึกษาสู่การเรียนรู้ที่บ้าน การสร้างชุมชนการเรียนรู้ของผู้เรียน การสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ดิจิทัลให้เหมาะสมกับการเรียนรู้เชิงรุก เป็นต้น และข้อเสนอเชิงนโยบายการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาพหุปัญญาเต็มศักยภาพ เช่น การสร้างความร่วมมือทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ การพัฒนาระบบการส่งต่อผู้เรียนแบบดิจิทัลสมบูรณ์ การคัดกรองและจัดทำแผนพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล การบูรณาการรูปแบบ A2D เข้ากับหลักสูตรแกนกลางเพื่อบูรณาการการพัฒนาพหุปัญญาอย่างเป็นระบบและมีความต่อเนื่อง การพัฒนาให้ครูสามารถออกแบบกลยุทธ์การสอนที่ส่งเสริมพหุปัญญาของผู้เรียน เป็นต้น