การศึกษา “บทบาทหน้าที่ที่เหมาะสมของพนักงานราชการตำแหน่งผู้ช่วยพนักงานราชทัณฑ์และนักทัณฑวิทยา ที่ปฏิบัติงาน ณ เรือนจำ/ทัณฑสถาน” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทหน้าที่ของพนักงานราชการตำแหน่งผู้ช่วยพนักงานราชทัณฑ์และนักทัณฑวิทยาที่เหมาะสมในการปฏิบัติงาน ณ เรือนจำ/ ทัณฑสถาน และเพื่อนำข้อมูลที่ได้รับไปกำหนดเป็นแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานราชการตำแหน่ง ผู้ช่วยพนักงานราชทัณฑ์และนักทัณฑวิทยา ในเรือนจำ/ทัณฑสถาน โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูล จากแบบสอบถามปลายเปิด (Open-ended Question) จากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 12 ราย และแบบสอบถามออนไลน์ (Google form) จากผู้อำนวยการส่วน/หัวหน้าฝ่ายของเรือนจำ/ทัณฑสถาน ทั่วประเทศ (ยกเว้น ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์) จำนวน 553 ราย จากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้อำนวยการส่วน/หัวหน้าฝ่ายของเรือนจำ/ ทัณฑสถาน พบว่า ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้อำนวยการส่วน/หัวหน้าฝ่ายของเรือนจำ/ทัณฑสถาน มีความเห็นสอดคล้องกัน โดยพนักงานราชการตำแหน่งผู้ช่วยพนักงานราชทัณฑ์มีความเหมาะสมที่จะมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายบริหารทั่วไปมากที่สุด มีผู้เห็นด้วยจำนวน 415 ราย คิดเป็นร้อยละ 75.0 รองลงมา คือ ฝ่ายสวัสดิการผู้ต้องขัง มีผู้เห็นด้วยจำนวน 292 ราย คิดเป็นร้อยละ 52.8 และสถานพยาบาลเป็นฝ่าย ที่มีผู้เห็นด้วยน้อยที่สุด โดยมีผู้เห็นด้วยจำนวน 139 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.1 ส่วนพนักงานราชการตำแหน่งนักทัณฑวิทยามีความเหมาะสมที่จะมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายทัณฑปฏิบัติมากที่สุด มีผู้เห็นด้วย จำนวน 458 ราย คิดเป็นร้อยละ 82.8 รองลงมาคือ ฝ่ายจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง มีผู้เห็นด้วยจำนวน 281 ราย คิดเป็นร้อยละ 50.8 และสถานพยาบาลเป็นฝ่ายที่มีผู้เห็นด้วยน้อยที่สุด โดยมีผู้เห็นด้วยจำนวน 123 ราย คิดเป็นร้อยละ 22.2 ทั้งนี้ การมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบให้แก่พนักงานราชการทั้งสองตำแหน่ง ควรให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของข้าราชการที่มีความรู้ ความชำนาญ คอยกำกับดูแลและตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของข้อมูลก่อนนำไปใช้รายงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง