สืบเนื่องจากการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ สภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเข้าถึงคุณค่า ของการใช้ประโยชน์ในแม่น้ำโขงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และโดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในแม่น้ำโขงสายประธานและการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขง มีความเสี่ยงต่อการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตชุมชนเพิ่มขึ้น โดยแม่น้ำโขงไหลผ่านประเทศไทยยาวกว่า 800 กิโลเมตร ผ่าน 8 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อำนาจเจริญ มุกดาหาร และอุบลราชธานี ผ่านชุมชนริมแม่น้ำโขงไม่น้อยกว่า 4,500 หมู่บ้าน ประชากรไม่น้อยกว่า 15 ล้านคน ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชุมชนริมน้ำโขงได้ใช้สอยทรัพยากรและตั้งถิ่นฐานเชื่อมโยงกับทรัพยากรในแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด จนสะสมเป็นคุณค่า ทางวัฒนธรรม จารีตชุมชน และทุนทางสังคมที่เกื้อกูลซึ่งกันและกันมาโดยตลอด และยังส่งผลดีต่อการสนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยว ประมงพื้นบ้าน เกษตรริมน้ำ รวมทั้งกิจกรรมทางวัฒนธรรม ประเพณี ที่ประจักษ์ชัด ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขงสายประธานและลุ่มน้ำสาขา ส่งผลเชื่อมโยงต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะชุมชนริมน้ำโขงมีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับผลกระทบดังกล่าว จึงได้มีการริเริ่มโครงการสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสนับสนุนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน ตามที่คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย มีมติเมื่อคราวประชุม ครั้งที่ 1/2556 ให้มีการติดตามตรวจสอบผลกระทบข้ามพรมแดนทั้งก่อนก่อสร้าง ระหว่างก่อสร้าง และหลังก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ระยะเวลา 15 ปี (ปี 2557 – 2571) โดยเริ่มดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็งภาคประชาสังคมในพื้นที่ 8 จังหวัดริมน้ำโขง ในปี 2559 เพื่อให้ชุมชน ในพื้นที่ 8 จังหวัดมีส่วนร่วมในการพัฒนาแผนการปรับตัวและสร้างความเข้มแข็งรองรับการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 นี้ เน้นการนำข้อเสนอจากแผนการปรับตัวของชุมชน (Community-based Adaptation: CbA) ไปพัฒนาเป็นโครงการนำร่องในแต่ละพื้นที่ และนำไปสู่การทบทวนแผนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนทั้ง 8 จังหวัดได้อย่างเป็นรูปธรรม